หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สุริยะเทพ (Apollo)


อพอลโล (Apollo ภาษากรีก: อพอลลอน) 
บุตรชายคนโตของมหาเทพซุส กับนางเลโต เป็นหนึ่งใน 12 เทพ แห่งโอลิมปัส เป็นเทพแห่งแสงสว่าง หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ รวมถึงเป็นเทพแห่งสัจจะและการดนตรีด้วย อพอลโล มีพี่สาวฝาแฝดชื่อ อาร์เทมิส หรือ ไดอาน่า (ในโรมัน) ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงจันทร์

จริงๆแล้วสุริยเทพดั้งเดิมของกรีกคือ ฮีลิออส (Helios) ซึ่งเป็นบุตรของไฮเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง เลโต มารดา ของ อพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของ เทวีเฮร่า เพราะเหตุเป็นที่ต้องตาต้องใจของซุส ทำให้ในขณะที่นางเลโตอุ้มครรภ์ ต้องหนีงูไพธอน (Python) ของเทวีเฮร่า ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้กำเนิดบุตรในครรภ์ได้ จนไปถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสาร บันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงได้ให้กำเนิด อพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะนั้น ในทันทีที่ประสูติ จากครรภ์มารดา อพอลโลก็ได้จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียกขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า “ผู้ประหารไพธอน” นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน , ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า “โอภาส” หรือ “ส่องแสง” ชื่อหลังนี้มักใช้ร่วมกับชื่อหลักว่า ฟีบัส อพอลโล

เมื่อให้กำเนิดบุตรแล้ว นางเลโตก็ยังไม่พ้นการรังควานของเทวีเฮร่า ต้องดั้นด้น ต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ในเอเซียไมเนอร์ ในปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้าคาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับไล่ตะเพิด และ ด่าทอนางด้วยคำหยาบช้า ทำให้ซุสกริ้วหนัก ถึงกับสาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด

อพอลโล เป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือ ของท่าน นอกจากนี้ยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู และนอกจากนี้ ยังเป็น เทพผู้ถ่ายทอดวิชาโรคศิลป์ให้แก่มนุษย์ เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืด และเป็นเทพแห่งสัจธรรม ผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย
วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่ วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขา พาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นับเป็นสิ่งหนึ่ง ในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว

เทพอพอลโลมีวีรกรรมสังหารเหล่าคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างูยักษ์ไพธอนจนมีชื่อเสียงแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส (Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทน ที่คิดล้มซุสเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น

แต่มีครั้งหนึ่งที่ อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงเทพซุสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดิน คนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส เหตุเกิดเพราะ เฮอร์คิวลิส ไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟี แล้วได้รับคำทำนาย ไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะพิธีในวิหาร แล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโล รีบรุดตามไป ท้าเล่นมวยปล้ำ เพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ซุสเห็นท่าว่าขืนปล่อยไว้นาน อพอลโล อาจจะเสียเปรียบ พ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิส คืนกระถางธูป แก่อพอลโล แล้วให้เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี

เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่า ผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน ท่านไมดาส (Midas ตามประวัติกล่าวว่าท่านจับอะไรก็จะกลายเป็นทองคำ) เกิดตัดสิน เข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีกแล้ว โดยได้สาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที ตามเรื่องต่าง ๆ ที่มีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็น ความโหดเหี้ยมดุร้ายดังเรื่องต่อไปนี้


การลงโทษนางไนโอบี
เทพอพอลโล กับ เทวีอาร์เตมิส เป็นที่ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงจึงได้โอ้อวด คุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่า จะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือ พลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนาง ความนี้เลื่องลือไปถึงนางไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของ ท้าวแทนทะลัส (Tantalus) และมเหสี เจ้าครองกรุงธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางเลโตมีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7
 นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางเลโตอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังห้ามชาวเมืองของนาง กระทำบูชา เทพอพอลโล และ เทวีอาร์เตมิส และสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา  นางเลโตโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียก บุตร และ ธิดา เคียงข้าง สั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีให้สิ้น


เทพบุตร เทพธิดา คู่แฝด อยู่ในอารมณ์เคียดแค้นเต็มที่ จึงออกไปทำตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่าสัตว์ จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้าสามีของนางไนโอบีก็ได้ฆ่าตัวตายตามลูกไป ยังเหลือก็แต่ธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะหายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เทมิสจองประหารอีก แม้ว่าสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอาร์เทมิส อย่างไรก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบี จะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครอง จากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็นผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันทั้งหมด จนเหลือนางหนึ่งที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูแล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้นให้ตายไปแทบอกของมารดาจนได้
 นางไนโอบี สูญสิ้นทั้งสามี และ บุตรธิดา ที่มากหมาย เหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทด หนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้งร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ ร่างของนางกลาย เป็นหิน ตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด ตั้งแต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางก็ยังไม่หยุดไหล ส่วนรูปหิน ของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้ นักเทพปกรณัมวิทยาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่ง นางไนโอบี นั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะกาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์
เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติ ไฮเพอร์โบเรียน และ แคว้นเธสสะลี เป็นต้น อพอลโลเที่ยวผูกสมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มวัยรุ่น ในแคว้นเธสสะลี มีหญิงงาม ชื่อว่า โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโล ผูกสมัครรักใคร่ได้เสียกับนาง จนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ ในระหว่างที่นางตั้งครรภ์ อพอลโลได้ให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่นาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่งบอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้น นกดุเหว่า จึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเทวีอาร์เทมิสบ้าง


แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล (บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพ นางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ไครอน เป็นอาจารย์ ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และ เป็นอาจารย์ ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และ คนอื่น ๆ อีก

ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิด ของเฮอร์คิวลีส ในระหว่างที่ตามล้าง เซนทอร์พวกหนึ่ง แม้ว่าเฮอร์คิวลิสจะพยายามรักษาอย่างไร และแม้ไครอนจะเป็นหมอเอง ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวหนักหนา ซุสจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเทริอัส (Sagitarius)
  
บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานนามว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็ก ฉลาดเฉลียว มีความเข้าใจในวิชาต่างๆแตกฉาน และเป็นที่รักของอาจารย์อย่างยิ่ง วิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุด ได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัส ในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วยไข้ได้ทุกชนิด ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อเสียงของเอสคิวเลปิอัส ก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลยทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ ของเอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง
 ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็น ที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้อันเป็นเหตุให้เทพซุส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจบารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซุสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาตเอง
เทพอพอลโลบันดาลโทสะ ในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซุส คือ เทพฮีฟีสทัส กับ ยักษ์ไซคลอปส์ โดยน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ ไซคลอปส์ เสียให้สมแค้น แต่ซุสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความอุกอาจครั้งนี้ จึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ

นอกจากเอสคิวเลปิอัสแล้ว อพอลโลยังมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่เกิดกับนางอัปสร ไคลมินี (Clymene) ชื่อเฟอิทอน (Phaeton) วันหนึ่งเฟอิทอนถูก เพื่อนเรียนหนังสือด้วยกัน หัวเราะเยาะในการที่อ้างตนเป็นบุตรสุริยเทพ เฟอิทอน ทั้งเคืองทั้งอับอาย กลับมารบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดา เพื่อให้ได้หลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็นบุตรเทพอพอลโลจริง นางไคลมินี จึงบอกทางให้บุตรเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของ อพอลโล ณ ที่นั่น จะได้พบกับบิดา เฟอิทอน รีบเดินทางโดยไม่หยุดพัก จนล่วงเข้าเขตวังของบิดา แม้ภูมิทำเลบริเวณวังจะงดงามตระการเพียงใด และตำหนักที่ประทับของอพอลโลก็เรืองวิจิตรน่าพรึงเพริดสักปานใด เฟอิทอนก็ไม่ใส่ใจมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป ฝ่ายอพอลโล เห็นกุมารเข้ามาใกล้ ก็จำได้ว่าเป็นบุตร และ เมื่อเฟอิทอนขึ้นถึงบัลลังก์ที่อพอลโลประทับอยู่ ก็ปฏิสันถารกับ เฟอิทอน อย่างบิดากับบุตร สั่งถามถึงธุระในการที่มาเฝ้า เฟอิทอนจึงทูลแถลงถึงเรื่องราวและความที่พึงประสงค์
พอจบ เทพอพอลโล ก็ออกอุทานวาจาว่า อนุญาตให้เฟอิทอน ได้ข้อพิสูจน์ตามแต่จะพึงประสงค์ พร้อมทั้ง สาบานยืนยันมั่นคง โดยอ้างแม่น้ำสติกส์เป็นทิพยพยานอีกด้วย (การสาบานโดยการอ้างชื่อแม่น้ำสติกส์นี้ เป็นการสาบานอันเคร่งครัดที่สุด ซึ่งลงว่าเทพองค์ใดลั่นสาบานแล้ว เทพองค์นั้นจะล่วงละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเทพผู้ล่วงละเมิด ไม่ปฏิบัติตามสาบาน จะต้องเสวยน้ำในแม่น้ำนี้ซึ่งจะทำให้ปัญญาเสื่อมเศร้าหมองเป็นเวลา 1 ปี และจะต้องถูกขับออกจากเขาโอลิมปัส และ งดเสวยน้ำอมฤตอีก 9 ปี)
เฟอิทอน ฟังคำสาบานดังนั้น จึงขออนุญาตขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาในวันนั้น เพื่อว่าโลกทั้งมวล จะได้ตระหนักชัดว่า เธอเป็นบุตรสุริยเทพสมจริงตามที่กล่าวอ้าง แต่ทว่ารถพระอาทิตย์นั้น ไม่ใช่ของสำหรับใครจะขับได้ ด้วยว่าผู้ที่สามารถควบคุมม้าเทียมทั้ง 4 ที่แสนจะพยศนั้น จะมีก็แต่ เทพอพอลโล องค์เดียว เมื่อเฟอิทอนขออนุญาต ขับรถแทนอพอลโล ก็ถึงแก่สะดุ้งประหวั่นเกรงจะเกิดเหตุยุ่งยาก และเดือดร้อน ไปทั่วโลกพิภพ และจักรวาล จึงบ่ายเบี่ยง บอกเฟอิทอนให้ขอพรอย่างอื่น ฝ่ายเฟอิทอน มีจิตกำเริบดื้อดึงขึ้นมาเสียแล้ว คงยืนกรานที่จะขอขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาให้จงได้ ในที่สุด สุริยเทพ ซึ่งลั่นสาบาน อันไม่พึงล่วงละเมิดออกไปเสียแล้วสุดที่จะบ่ายเบี่ยงต่อไปได้อีก ก็จำต้องยอมอนุญาตให้เฟอิทอน ขับรถพระอาทิตย์แทนได้ดังประสงค์
 
เมื่อถึงเวลากำหนดออกรถ ม้าเทียมรถก็เตรียมเผ่นโผนโจนทะยานออก นางประจำยาม เข้าเคียงข้างรถ อยู่พร้อมสรรพ ฝ่ายอุษาเทวีก็คอย อาณัติสัญญาณสั่งจากสุริยเทพ เตรียมไขทวาร เบิกม่านฟ้า อยู่ทีเดียว


ฝ่ายเทพอพอลโลจัดแจงชโลมเฟอิทอนด้วยของเย็นกันถูกแสงอาทิตย์แผดเผา พลางสั่งเฟอิทอน ให้ขับรถรักษาเส้นทางโคจรเดิมไว้ให้ดี อย่าให้รถออกนอกทางเป็น อันขาด อพอลโลสั่งย้ำซ้ำ ให้บุตรกวดขัน ระมัดระวังม้าเทียม โดยเคร่งครัดอย่างที่สุด และให้ใช้แส้แต่โดยออมชอมเท่านั้นด้วยว่ามันเป็นม้าที่พยศมาก
หนุ่มน้อยฟังบิดาสั่งเสียอย่างระอิดระอา แล้วก็โดดขึ้นนั่งรถทองคำ รวบสายบังเหียน ให้สัญญาณอุษาเทวีเปิดทวาร และขับรถออกจาก วังสุริยเทพด้วยความกระหยิ่ม ลำพองใจ ในชั่วโมงแรกๆ เฟอิทอนสังวรในคำสั่งเสียของบิดา แต่แล้วความกำเริบเสิบสานเข้าครอบงำ ทำให้ลืมคำสั่งของบิดาเสีย เฟอิทอนขับรถเร็วขึ้นทุกทีจนรถออกนอก ทางโคจรไป ดวงจันทร์ และดาราน้อยใหญ่พากันตื่นตระหนกที่ได้เห็นรถสุริยาแล่นเตลิด ไปกลางหาว แต่ก็ไม่มีปัญญาจะทำประการใดได้ และ เฟอิทอน ก็ขับรถใกล้โลก เข้ามาทุกที จนเป็นเหตุให้พืชพันธ์ทั้งปวง เหี่ยวแห้งตายหมด น้ำในแม่น้ำลำธารก็เหือดแห้ง แผ่นดินไหม้เกรียมจนเกิดควันโขมง ผู้คนของแผ่นดินนั้น ถูกแสงอาทิตย์ แผดเผาจนตัวดำไปหมดสิ้น เป็นสีกายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้ และแผ่นดิน ที่ถูกรถสุริยาเข้าใกล้ในครั้งนั้นก็คือ แอฟริกานั่นเอง

ฟอิทอนตื่นตกใจในเหตุอันตนทำให้เป็นไป จึงลงแส้ม้าชักรถให้ถอยห่างจากโลก ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเห ออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือ รอดจากความร้อนอยู่บ้าง กลับเหี่ยวเฉาตายลงอีก เพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนในที่สุดก็ปลุกซุสเทพบดีให้ตื่นจากบรรทม เล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ

ครั้นได้ความว่า เหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับรถสุริยาเช่นนั้น ซุสก็พิโรธนัก คว้าอสนีบาต ฟาดไปที่เฟอิทอน บันดาลให้เฟอิทอนสิ้นชีวิตตกจากรถสุริยาลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา

เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำ จนเทพทั้งปวง สงสาร เลยแปลงนางเป็นต้นอำพัน หลั่งน้ำตาเป็นอำพัน ตั้งแต่บัดนั้น ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงมหาศพ ดำผุดดำว่าย ในแม่น้ำ จนกลายเป็น ต้นตระกูลหงส์ เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มา จนตราบเท่าทุกวัน


อย่าคิดว่าอพอลโลหนุ่มรูปงาม ที่พรั่งพร้อมทุกสิ่ง จะสมหวังในเรื่องรักๆ ใคร่ๆไปซะทุกครั้ง โดยอพอลโลถูก เฮสเทีย เทพีแห่งเตาไฟปฏิเสธการแต่งงาน มิหนำซ้ำยังประกาศตัวเป็นเทพีผู้ครองพรหมจรรย์ เมื่อครั้งที่ หลงรักนางซีบิล ก็ยังยืนกรานจะให้พรนางหนึ่งข้อแม้ว่าจะถูกปฏิเสธความรักก็ตาม ซีบิล ก็ขอให้นาง มีอายุยืนเท่ากับ จำนวนเมล็ดทรายที่นางกอบขึ้นมา แต่ว่านางลืมขอความสาวให้คงกระพันไปด้วย นางจึงแก่ หง่อม และ ตัวเล็ก ลงเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ล่วงเลย มันให้ความทุกข์ทรมานกับเธอมากกว่าความสุข จะตายก็ตายไม่ได้เพราะ พรศักดิ์สิทธิ์ นางจึงเบี่ยงเบนความสนใจไปทางการทำนายทายทัก ซึ่งการทำนาย ของนางแม่นยำ ไม่มีทางผิดสักนิด


ที่ดังที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องที่วิ่งไล่นางไม้ดาฟเน่ ธิดาของพีเนอุส เทพเจ้าแห่งแม่น้ำ เรื่องมีอยู่ว่า อพอลโล ลงจากเขาโอลิมปุส ไปเดินเล่นในป่า ก็ไปพบนางไม้คนสวยที่ชื่อดาฟเน่เข้า อพอลโลหลงรักนางทันที และพยายาม จะเข้าไปพูดคุยด้วย แต่ดาฟเน่ก็รู้ชื่อเสียง ด้านความมากรักของอพอลโลดี จึงไม่ตกลงปลงใจกับเขา และ ยังพยายามจะรีบไปให้ไกลจากเทพหนุ่มเสียนี่ อพอลโลก็เริ่มจะหมดความอดทนเกี้ยวพาราสีเสียแล้ว เทพหนุ่มจะก็ใช้กำลังบังคับนางซะ แต่ดาฟเน่ที่ระวังตัวอยู่แล้วก็รีบวิ่งหนี อพอลโลวิ่งไล่ตามดาฟเน่สุดฝีเท้า จนจะตามทัน อยู่แล้ว แต่ดาฟเน่ ได้ร้องขอให้บิดาของนางช่วยนางให้พ้นจากมือของอพอลโลไปตลอดทาง พีเนอุส จึงร่ายเวทย์ ไปยังร่างของบุตรสาว เท้าของนางแข็งทื่อดังถูกตรึงไว้กับพื้น เสื้อผ้าอาภรณ์ได้กลายเป็นเปลือกไม้ ห่อหุ้ม ร่างอันสันเทา ของนางพราย ใบไม้สีเขียวขจีก็แตกแขนง ออกจากร่างกายที่กลายเป็นต้นชัยพฤกษ์ไปอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากสำหรับอพอลโล จนถึงขนาดที่เอากิ่งชัยพฤกษ์มาทำเป็นมงกุฎสวมศรีษะตลอดเวลา


ยังมีความรักแบบที่เข้าใจยากอีกรักหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารักแบบเพื่อน หรือ แบบคนรักกัน กับ ไฮยาซินทุส หนุ่มหน้ามน ซึ่ง เซฟีรุส ริษยา ขณะที่ทั้งสองเล่นขว้างจักรกัน เซฟีรุส จึงเปลี่ยนทิศทางลมให้พัดจักรของอพอลโล ไปโดนศรีษะ ของไฮยาซินทุสตาย เลือดของเขาได้กลายเป็นต้นไฮยาซิน


ล้มล้างซุส
อพอลโลก็ยังเคยต้องอาญาจากซุส เช่นกัน เมื่อร่วมมือกับโปเซดอนและเฮร่า คิดจะล้มล้างซุส แต่พ่ายแพ้ จึงถูกสั่ง ให้ลงไปช่วย สร้างกำแพงเมืองทรอย กับโปเซดอนเป็นเวลาสามปี เมื่อเกิดสงครามทรอย อพอลโลก็อยู่ฝ่ายทรอย
Apollo
เครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของอพอลโลก็คือพิณกระดองเต่า ซึ่งเฮอร์เมส ได้ประดิษฐ์ และมอบให้เป็น ของขวัญ ขอโทษขอโพยที่ขโมยวัวอพอลโลไป อพอลโลเป็นเทพ ที่มีหน้าที่มากมาย และมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ทั้งโดยลักษณะและหน้าที่
  • เทพเจ้าแห่งหมาป่า คือ ไลคัส
  • เทพเจ้าผู้รักษาและการแพทย์ คือ เพแอน
  • เทพเจ้าผู้คุ้มครองมิวซ์ คือ มูซาเกเตส
  • เทพเจ้าแห่งหนู คือ สมินเธียรุส
  • เทพเจ้าผู้ส่องแสง คือ โฟเอบัส
ปัจจุบัน อพอลโลเป็นชื่อที่ถูกอ้างอิงบ่อย ๆ ในทางที่เกี่ยวกับแสงสว่างหรือความสำเร็จ เช่น เป็นชื่อปฏิบัติการ ทางอวกาศ ของนาซาที่เรียกว่า โครงการอพอลโล หรือเป็นชื่อยี่ห้อน้ำมันเครื่อง

จอมณรงธร ศรีอริยนันท์ (ตี๋)
21 กรกฎาคม 2012  
สมัครเข้ากลุ่มเฟสภาษาตะวันตกได้ที่ 
https://www.facebook.com/groups/365756166805480/ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น