วิจารณ์โดย nantakwang
37°2 Le Matin
Betty Blue : หรือพระเจ้าวางแผนให้เรารักกัน
นานมาแล้ว...นิตยสาร GM กับ Pulp เคยมาสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับ 10 หนังในดวงใจ ปกติเวลามีหนังสือมาสัมภาษณ์เรืองแบบนี้ คุณสามารถขอเวลาเขาไปได้เยอะ ๆ เพราะต้องคิด แต่ผมใช้เวลาไม่นานในการเลือกเพราะว่ามันอยู่ในหัวใจมานาน นานจนเราแค่คิด ก็จำชื่อได้ betty blue เป็นหนังอันดับ 7 จาก 10 อันดับ
มันไม่ใช่หนังที่ดูได้บ่อยแบบ the road home หรือ stand by me
ไม่ใช่หนังที่ดูแล้ว ซาบซึ้ง คิดถึงวัยเยาว์แบบ cinema paradise
แต่เป็นหนังที่เมื่อคิดจะหยิบดู ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นตัวหนัง
“ความรู้สึกรุนแรง” ในที่นี้คือ ความจริงจังในเรื่องที่รับรู้ ตั้งใจดู และไม่ใช่ดูผ่านๆ
............................
ผม น่าจะตั้งชื่อภาษาไทยว่า “งดงามแม้ยามหนึ่ง” หรือ “โมงยามของความอิ่มเอม” แต่คิดว่าชื่อ “พระเจ้าวางแผนให้เรารักกัน” น่าจะดีกว่าสำหรับ “ซอร์ก” และ “เบ็ตตี้”
ซอร์ก เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี เขาทำงานเป็นช่างทาสีบังกะโลริมทะเล ที่อยู่ไปวันๆ ไม่มีความฝัน ไม่มีแรงจูงใจต่อสิ่งใด ผู้ชายแบบนี้จะว่าไปไม่มีพิษมีภัยอะไร จิตใจดี แต่ฝากอนาคตด้วยลำบาก เพราะเฉื่อยชา นิ่งเฉยกับทุกเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเป็นคนไม่มีอะไร ซอร์ก ก็ยังมีความฝัน
ความ ฝันของเขา ไม่ใช่การมีจตุคามครบคอลเลคชั่น หรือมีเงินในบัญชีธนาคารถึง 100 ล้าน ฝันของ ซอร์ก แสดงออกได้ถึงการที่เขารักการเขียน และพยายามเขียนหนังสือ
หลายครั้ง ที่ซอร์กมักจะหยิบกระดาษมาขีดๆ เขียนๆ อะไรไว้ แล้วก็เก็บไว้ใต้เตียง
มันก็คงเป็นอยู่แบบนั้น ถ้างานเขียนไม่ถูก “ค้นพบ” โดย “เบ็ตตี้” ในคืนหนึ่ง
..................................
น่าสนใจนะครับ เมื่อหนังวางตำแหน่งและลักษณะของตัวละครแบบนี้ คนหนึ่งเหมือนไม่มีความฝัน อยู่ไปวันๆ อีกคนไม่อยู่กับร่องกับรอย แต่มี passion และ ambition มีแรงขับที่จะเดินไปข้างหน้า ไม่ยืนอยู่กับที่ บทหนังไม่ได้แนะนำ “ที่มา” ของ เบ็ตตี้ และ ซอร์ก อย่างละเอียด เปิดเรื่องมา ก็เมคเลิฟ ร่างกายเปลือยเปล่าบนเตียงนอน ด้วยภาพ long shot ไกลๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ต้องการสื่อแง่มุมเปลือยโป๊ แต่ให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน
ผมไม่รู้ว่า ซอร์ก จีบ เบ็ตตี้อย่างไร และไม่รู้ว่าอะไรทำให้ทั้งคู่รักกัน และมีความสัมพันธ์แบบ “ยืนเคียงกัน” แต่หลังจากดูไปเกือบชั่วโมง ก็เริ่มจะเข้าใจ เบ็ตตี้ อาจเป็นคนอารมณ์ร้าย จนใครๆ ก็ไม่รับและรับไม่ได้ (เธอเคยจุดไฟเผาบังกะโลที่ ซอร์ก ทาสีด้วย เพราะรู้สึกว่า นายของซอร์ก ใช้งานเขาแบบเกินทาส) แต่เธอเป็นคนเดียวที่มองเห็น “คุณค่า” ในตัวเขา ซอร์ก มองมาตลอดว่าตัวเองไม่มีอะไรดี แต่เบ็ตตี้บอกว่าไม่ใช่ หนึ่งในนั้นที่ยืนยัน ไม่ใช่การสีสวยๆ ให้กับบ้านพักเป้นร้อยหลัง
แต่คือ “การเขียนหนังสือ” เบ็ต ตี้ ยืนยันว่า ซอร์ก เป็นนักเขียนได้ เธอรื้อกล่องเก็บงานเขียนที่อยู่ใต้เตียงของเขามาอ่าน แถมเจ้ากี้เจ้าการ เอามันมานั่งพิมพ์ดีดทีละคำเพื่อส่งไปให้บรรณาธิการอ่าน
ฉากที่เบ็ตตี้ นั่งจิ้มแป้นเครื่องพิมพ์ดีดทีละคำนั้น น่ารักมาก มันแสดงถึงความพยายาม(passion) ที่ซ่อนอยู่ แต่หลายเรื่องในชีวิตคนเรา ก็ไม่ได้สมหวังอย่างที่คิด เสมอไป
ทันทีที่รู้ว่า บก.ปฏิเสธงานเขียนของ ซอร์ก เพราะมันยังไม่ดีพอ เบ็ตตี้ เอามีดไปกรีดหน้าบรรณาธิการถึงสำนักพิมพ์ การกระทำของเธอ อาจจะดูรุนแรงมาก (เผาบังกะโล, กรีดหน้าคน) แต่ลึกลงไป สิ่งนี้อาจตอบสนองจิตใจของ ซอร์ก อยู่ลึกๆ เขามีชีวิตที่น่าเบื่อมาตลอด อยู่ไปวันๆ นำใครไม่เป็น และไม่รู้ว่าจะทำวันเวลาของเขาและเธอให้ดีอย่างไร
มีอยู่ฉากหนึ่ง บทหนังเจตนาใส่เข้ามาแบบผ่านๆ ถ้า เผลอก็อาจไม่รู้สึก แต่นี่คือหนังฝรั่งเศสที่มีรายละเอียดให้จับเยอะตามแนวทางของหนังยุโรป (ขณะที่โครงสร้างของพวก American movie เน้นไปที่สีสันของ “พล็อต”) ฉาก ที่ว่านี้ก็คือ เมื่อ ซอร์ก มองไปในท้องทะเล เขาเห็นเรือใบสีขาวลอยอยู่บนผิวน้ำ มันงามจนไม่มีใครกล้าจะคิดว่า หนังจะสื่ออะไรในทางลบ
ถ้า ตีความตามลัทธิ zen เรือใบที่ลอยอยู่บนท้องทะเลงดงาม ก็คือการชักชวนให้ปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการที่รัดเขาจนแน่น ซอร์ก ไม่กล้าทำอะไรเลย นายทุนเอาเปรียบก็ก้มหน้ารับคำสั่ง
แต่ถ้าตีความ (interpretation) แบบปรัชญา ที่หนังจากแดนน้ำหอมชอบทำบ่อยๆ เรือใบที่เห็นก็มีความถึง “เบ็ตตี้” สิ่งดีๆ เรื่องสวยงาม ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา นั่นเอง
..............................
อย่างน้อยก็กับ “งานเขียน” ที่เขารัก เพราะไม่ว่าจะทำอะไร เขียนอะไร ดีหรือไม่ดี เบ็ตตี้อยู่เคียงข้างเขาเสมอ ใน ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เบ็ตตี้ ปลอบโยน ซอร์ก ว่า เขาเป็นนักเขียนได้ จาก sense ที่ละเอียดอ่อนของเธอ แม้เขาไม่เชื่อในทีแรก แต่ก็เริ่มรู้สึกแล้วนิดๆ จากจุดนี้ หนังเปลี่ยนอารมณ์เข้มข้นขึ้น เบ็ตตี้ ไม่ใช่แค่คู่นอนของ ซอร์ก อย่างที่ใครๆ นินทาอีกต่อไป แต่กำลังเป็น “คู่ชีวิต” ของเขา
ทุกอย่างเหมือนกำลังไปได้ดี มีสัญลักษณ์หนึ่งปรากฏขึ้นมาเพื่อยืนยันว่า สถานะของ ซอร์ก และ เบ็ตตี้ หนักแน่นขึ้น ยืนเคียงกันมากขึ้นชัดเจน ก็คือการที่ซอร์กมีรถขับ การมีรถไม่ได้ทำหน้าที่ในเชิงวัตถุนิยม แต่หมายถึงการพัฒนาตัวเองขึ้นมาแล้ว
.................................
ดูถึงตรงนี้ ก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องมีคำว่า blue
ผม ชอบสีฟ้ามากที่สุด ชอบคำว่า blue แต่เวลาคำนี้ปรากฏในงานศิลปะ (ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรมและหนังสือ) ความหมายของมัน มักเป็นอะไรที่เศร้ามากกว่าสุข
ในท้ายเรื่อง หลังจากเบ็ตตี้ดีใจมากที่เธอจะมีลูกกับซอร์ก พอหมอบอกว่า ผลการตรวจนั้นผิดพลาด ไม่ใช่การท้อง และเธออาจมีลูกไม่ได้
..............................
เบ็ต ตี้ บ้าคลั่ง อารมณ์รุนแรงของเธอทำงานอีกครั้ง ซอร์ก เคยบอกไว้ในต้นเรื่องว่า เบ็ตตี้เหมือนม้าที่บาดเจ็บ จากการพยายามกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางในสนาม แล้วก็ล้มลงอยู่เรื่อยๆ วันที่เธอจะไม่ลุกขึ้นอีก ก็คือวันที่เธอหมดแรงหรือสิ้นลม ม้าตัวนี้ลุก ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ กับความผิดหวังเรื่องงานทาสีของซอร์ก, กับเรื่องงานเขียนที่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ แต่เธอก็ลุกขึ้นมาวิ่งใหม่
สุดท้าย การปลดปล่อยเธอให้ไปอยู่ในอ้อมแขนของพระเจ้า น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด
...............................
ผม ดูเรื่องนี้แล้ว สะเทือนใจกับการตายของ เบ็ตตี้ มากกว่าโศกนาฏกรรมของ แจ๊ค ของโรส มากนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หนัง betty blue ต้องการมอบให้เรา
ไม่ใช่เรื่องเศร้า แต่เป็น “ความงาม” ในความรู้สึก
ดีเทล สั้นๆ ที่โผล่เข้ามาก่อน เบ็ตตี้ ทำร้ายตัวเองรุนแรง ก็คือ “แมวสีขาว” ที่เดินริมหน้าต่าง และกระโดดเข้ามานอนคลอเคียงข้างๆ ร่าง เบ็ตตี้
................................
วันเวลาผ่านไป
ซอร์ก คิดถึงงานเขียนและการเขียนหนังสืออีกครั้งเขาคิดว่า อย่างน้อยๆ เขาควรจะเขียนหนังสือเพื่อ “เบ็ตตี้” หญิงสาวที่เฝ้ากระตุ้นเขาเรื่องนี้ตลอดมา
ผมดูหนังที่เกี่ยวกับนักเขียนมานับไม่ถ้วน แต่แปลกดี เวลาพูดถึงฝันของการอยากเป็นคนรับใช้ถ้อยคำ ผมกลับชอบเรื่องนี้มากที่สุด
มันไม่ใช่หนังยิ่งใหญ่ แต่เป็นหนังที่จะ “อยู่ในใจ”
หนังที่เคยยิ่งใหญ่ วันหนึ่งอาจไม่ยิ่งใหญ่อีกแล้ว
แต่หนังที่อยู่ในใจ คนที่อยู่ในใจ
หลายครั้งเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิต
Betty blue ที่งดงาม - ก็เช่นกัน
จอมณรงธร (ตี๋)
ประธานชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2555-56
กลุ่ม "รวมบาป"
4 กันยายน 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น