วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555

10 เหตุการณ์ในความทรงจำกีฬาโอลิมปิก


ข้อมูลโดย piss it   

10 เหตุการณ์ในความทรงจำ กีฬาโอลิมปิก



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
1. โศกนาฏกรรมมิวนิคโอลิมปิกครั้งที่ 20
มิวนิค เยอรมันตะวันตก 1972

เป็นเรื่องเศร้าเหลือเกิน ที่ความทรงจำลำดับ 1 ของกีฬาโอลิมปิก
กลับไม่ใช่เรื่องกีฬา
ไม่ว่าจะสำนักข่าวไหน ทำโพลเช่นไร คำตอบเกี่ยวกับความทรงจำ
ชนิดโลกไม่มีวันลืมเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก ที่ผู้คนรำลึกนึกถึงเป็นลำดับต้น ๆ
ก็คือ เหตุการณ์สังหารหมู่นักกีฬาอิสราเอลในบ้านพักนักกีฬา
ที่มิวนิค เมื่อปี 1972

วันที่ 5 กันยายน 1972 เวลาประมาณ 04.30 น.
ผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ ทีเรียกตัวเองว่า กลุ่มกันยายนทมิฬ (BLACK SEPTEMBER) จำนวน 8 คน พร้อมอาวุธปืนและลูกระเบิด
ได้บุกเข้าไปในบ้านพักนักกีฬา และสังหารนักกีฬาอิสราเอลเสียชีวิต 2 ราย
พร้อมกับจับตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอล 9 รายไว้เป็นตัวประกัน

กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวสมาชิกของกลุ่มจำนวน 236 ราย
ที่ถูกจองจำอยู่ทั่วโลก
การเจรจาล้มเหลว ผู้ก่อการร้ายสังหารตัวประกันทั้ง 9 ราย
และผู้ก่อการร้ายก็ถูกยิงเสียชีวิตไป 5 ราย ยอมมอบตัว 3 ราย

นักกีฬาชาวอิสราเอลทั้ง 11 คนที่เสียชีวิต

โฉมหน้าผู้ก่อการร้าย 8 คน 3 คนด้านบนถูกจับ อีก 5 คนที่เหลือ เสียชีวิต

โอลิมปิกที่มิวนิค กลายเป็นโอลิมปิคแห่งความเศร้า
ธงโอลิมปิคถูกลดลงครึ่งเสา แสดงความเสียใจ ตลอดการแข่งขัน
กีฬาสอนให้คนรู้แพ้ รู้ชนะ รู้ให้อภัย
ผิดกับอุดมการณ์หรือความเชื่อทางการเมือง ที่มักจะสอนให้คนต้องการจะเอาชนะคะคาน ไม่ยอมปรองดองกัน จนถึงขั้นเข่นฆ่า ทำลายล้างเอาชีวิตกัน ก็มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. สงครามเย็นในสนามบาสเก็ตบอลโอลิมปิกครั้งที่ 20
มิวนิค เยอรมันตะวันตก 1972



นี่ คือ การแข่งขันกีฬาในโอลิมปิกเกมส์ ที่จบลงด้วยความขัดแย้ง ข้อกังขา เคลือบแคลง ที่เล่าขานสืบต่อกันมาชนิดไม่มีแมตช์การแข่งขันใดเทียบเคียงได้

มันคือ บาสเก็ตบอลนัดชิงชนะเลิศ โอลิมปิก 1972 ระหว่างแชมป์ผูกขาด สหรัฐอเมริกา ที่ชนะติดต่อกันมาในโอลิมปิกถึง 62 แมตช์
และครองแชมป์ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1936
กับ โซเวียต ประเทศคู่ปรับทางการเมืองในยุคนั้น
ที่เรียกกันว่า "ยุคสงครามเย็น"

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในช่วงท้ายเกม เหลือเวลาอีกเพียง 3 วินาที
สหรัฐได้ชูทลูกโทษ 2 ลูก ขึ้นนำ 50-49
และในที่สุด ก็จบการแข่งขัน กรรมการชาวบราซิลเป่านกหวีด
นักกีฬาสหรัฐ กรูลงไปแสดงความยินดีกันในสนาม (ตามภาพ)
แต่ทว่าเหตุการณ์ไม่จบลงเช่นนั้นจริง...เพราะโค้ชทีมโซเวียต ซึ่งได้ประท้วงเรื่องการขอเวลานอกไปแล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่จะเริ่มชูทลูกโทษ
แต่กรรมการชาวบราซิลมองไม่เห็น มาเห็นเอาตอนสหรัฐชูทลูกแรกผ่านไปแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ขอเวลานอกได้
ความผิดพลาดนี้ กลายเป็นข้อถกเถียงไม่ยอมรับของทางโซเวียต
จนต้องนำการประท้วงนี้ ไปให้คณะกรรมการที่ควบคุมการแข่งขัน เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ปรากฏ ว่า ผลการวินิจฉัย กลับกลายเป็นว่า คณะกรรมการมีมติ 3 - 2 ให้ย้อนกลับไปเริ่มนับเวลา 3 วินาทีใหม่ และผลการตัดสินที่ทำให้ต้องเล่นกันใหม่
3 วินาทีนั้น ทำให้โซเวียตได้ชูท 2 แต้มวินาทีสุดท้ายลงห่วง เป็นฝ่ายพลิกมาชนะ 51-50 ไปทันที


เกิดความโกลาหล วุ่นวาย ภายในสนาม ทีมสหรัฐไม่ยอมรับผลการแข่งขัน และไม่ยอมขึ้นแท่นรับเหรียญเงิน

หน้า ประวัติศาสตร์การกีฬาได้บันทึกไว้ว่า คณะกรรมการที่ตัดสินให้กลับไปเล่นใหม่ 3 เสียงนั้น มาจากประเทศคอมมิวนิสต์ฝ่ายเดียวกับโซเวียตทั้งสิ้น
กล่าวคือ เป็นกรรมการจากประเทศ ฮังการี โรมาเนีย และคิวบา

มันคือ สงครามเย็น ระหว่างโลกสองค่าย ที่อุบัติขึ้นในสนามบาสเก็ตบอล กลางกรุงมิวนิค ดี ๆ นี่เอง

มีเกร็ดเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากจะไม่ยอมรับเหรียญเงิน ที่สหรัฐบอกว่า เป็นการรวมหัวกันโกงจากประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์แล้ว
ผู้เล่นสหรัฐบางคน ยังเขียนพินัยกรรมไว้อีกว่า ห้ามทายาท ผู้สืบสกุล รับเหรียญรางวัลอัปยศนี้เป็นอันขาด ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ภายหลังที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
3. ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส กับถุงมือสีดำโอลิมปิกครั้งที่ 19
เม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก 1968


เป็นโอลิมปิกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทั้งสถานการณ์โลก และสถานการณ์ในประเทศเม็กซิโกเอง
โดยเฉพาะเป็นช่วงยุคแสวงหา สิทธิ เสรีภาพ สันติภาพ อันเป็นผลมาจากสงครามเวียดนาม
ทำให้ความคิดต่อต้านการกดขี่จากอำนาจรัฐ แผ่กระจายไปทั่วโลก

นักกรีฑาอเมริกันผิวสี 2 คน ทอมมี่ สมิธ กับ จอห์น คาร์ลอส ที่ได้อันดับ 1 และ 3 ในการวิ่ง 200 เมตร
ได้ถือโอกาสตอนที่ขึ้นรับเหรียญรางวัล ทำการประท้วง
เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ ให้โลกรู้ผ่านกล้องโทรทัศน์
ด้วยการ ไม่ใส่รองเท้า ขึ้นไปบนแท่นรับเหรียญ
พร้อมทั้ง ชูกำปั้นที่สวมถุงมือสีดำ ขณะบรรเลงเพลงชาติสหรัฐ
ภาพข่าวนี้ เผยแพร่ไปทั่วโลก
นักกรีฑาทั้งสองคน ถูกส่งตัวกลับสหรัฐทันที


จอร์ช โฟร์แมน กับท่า "ผู้รักชาติ" คนละขั้วกับเพื่อนร่วมผิวสีสองคนนั้น
ถ้าจะพูดกันภาษาชาวบ้าน นักกรีฑา 2 คนนี้ ก็คือคนที่มีลักษณะความคิดแบบ "ซ้าย" แอนตี้รัฐ นั่นเอง
ในขณะเดียวกัน นักกีฬาสหรัฐ ก็มีทั้งคนที่คิดแบบซ้าย (ก้าวหน้า) และแบบขวา (อนุรักษ์นิยม รักชาติ)
คนที่คิดและกระทำต่างไปจากนักกรีฑา 2 คนนี้ ก็คือ จอร์ช โฟร์แมน นักมวยเหรียญทองรุ่นซูเปอร์เฮฟวีเวท ที่มาเป็นแชมป์โลกชื่อดังในเวลาต่อมานั่นเอง
จอร์ช โฟร์แมน ก้าวขึ้นรับเหรียญรางวัล พร้อมชูธงชาติสหรัฐ แสดงความเป็นผู้รักชาติ-ลูกที่ดีของสหรัฐอเมริกา
ได้ใจอเมริกันชนที่มีแนวคิดแบบเดียวกับเขา ไปมากพอสมควร


มีเกร็ดเกี่ยวกับการแข่งขันกรีฑาแถมท้ายนิดนึงว่า
เกิดการทำลายสถิติการแข่งขันอย่างมากมาย ในโอลิมปิกครั้งนี้
สถิติการวิ่ง 100 เมตร ต่ำกว่า 10 วินาที ครั้งแรกในโลก ก็เกิดขึ้นที่นี่
สถิติกระโดดไกล ก็ถูกทำลายไปไกลเกือบ 2 ฟุต
ส่วนหนึ่งเพราะว่า เป็นการแข่งขันในสภาพอากาศเบาบาง แรงต้านน้อยนั่นเอง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
4. เจสซี โอเวน ผู้ตบหน้าฮิตเลอร์กลางกรุงเบอร์ลินโอลิมปิกครั้งที่ 11
เบอร์ลิน เยอรมนี 1936


โอลิมปิก 1936 ที่เบอร์ลิน กลายเป็นโอลิมปิกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ของจอมเผด็จการ อด็อฟ ฮิตเลอร์ จนได้รับการกล่าวขานนามว่า "นาซีเกมส์"
ทุกสนามการแข่งขัน ถูกประดับประดาด้วยผืนผ้าสีแดงตราสวัสดิกะ
เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของลัทธินาซีและชนเผ่าอารยัน

ถือเป็นโอลิมปิกที่มีเรื่องการเมือง และการเหยียดผิว หยามชาติพันธุ์
มาเกี่ยวข้อง มากที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก
โดยเฉพาะความเชื่อของฮิตเลอร์ ที่ว่าชนชาวผิวขาว ชนเผ่าอารยัน เท่านั้น
ที่แข็งแรง เก่งกาจ ฉลาดปราดเปรื่อง ในทุก ๆ ด้าน เหนือกว่าชนเผ่าอื่น ๆ



แต่นักกีฬาผิวสีชาวสหรัฐนามว่า เจสซี โอเวน ทำให้ฮิตเลอร์เสียหน้าอย่างแรง
เมื่อสามารถคว้ามาได้ถึง 4 เหรียญทอง
จากการ วิ่ง 100 เมตร, 200 เมตร, วิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตร และกระโดดไกล
โดยเฉพาะในการแข่งขันกระโดดไกลนั้น นักกีฬาเจ้าภาพเยอรมัน กระโดดทำสถิติเป็นผู้นำ โอกาสคว้าเหรียญทองอยู่แค่เอื้อม
ขณะที่ เจสซี โอเวน กระโดดฟาวล์ติดต่อกัน 2 ครั้ง เหลือการโดดครั้งสุดท้าย
นักกีฬาเยอรมัน ได้เข้ามากระซิบบอกเคล็ดลับ เจสซี โอเวน ว่าควรจะกระโดดอย่างไร ถึงจะไม่เหยียบเส้นฟาวล์
ซึ่งเจสซี โอเวนทำตามคำแนะนำ และกลายเป็นผู้โดดแซงสถิติของนักกีฬาเยอรมันไปทันที
หลังจบการแข่งขัน ทั้งคู่ก็กลายเป็นเพื่อนรักกัน


ภาพคลาสสิกตลอดกาล เจสซี โอเวน ทำความเคารพธงชาติสหรัฐ
ในขณะที่นักกีฬาเยอรมัน คนที่มากระซิบบอกเคล็ดลับ ทำท่าแสดงความเคารพตามแบบนาซี
ต่อหน้าฮิตเลอร์
หลังจากเบอร์ลินเกมส์อีก 3 ปี ฮิตเลอร์ก็พาประเทศเข้าสู่สงคราม
ก่อความหายนะให้คนทั้งโลก
ทำให้โลกที่สิ้นไร้สันติภาพ ไม่มีการจัดกีฬาโอลิมปิกยาวนานถึง 12 ปี

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

5. นาเดีย โคมานิชี : A Perfect Ten

โอลิมปิกครั้งที่ 21
มอนทรีล แคนาดา 1976



สาวน้อยวัย 14 ปี จากโรมาเนีย นาเดีย โคมานิชี
ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ในการแข่งขันยิมนาสติก คือ สามารถทำคะแนนได้เต็ม 10 (กรรมการ 7 คน ให้คะแนน 10 เต็มทุกคน) เป็นคนแรกของโลก
ซึ่งทำให้ สกอร์บอร์ดรายงานคะแนน ถึงกับใช้ไม่ได้ รายงานตัวเลขออกมาเป็น 1.00 เพราะไม่ได้ทำไว้รองรับตัวเลขหลักสิบ และไม่มีใครคิดว่า ตัวเลขนั้นจะเกิดขึ้นได้


นาเดีย โคมานิชี กลายเป็นดาวเด่นแห่งโอลิมปิกครั้งนั้นไปทันที
ชื่อเสียงเธอโด่งดังไปทั่วโลก มีรูปขึ้นปกหนังสือชั้นนำของโลก แทบทุกเล่ม


นาเดีย โคมานิชี ในวัยปัจจุบัน อายุ 46 ปี
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
6. ชีวิตในอุ้งหัตถ์พระเจ้า [Chariots of Fire]โอลิมปิกครั้งที่ 8
ปารีส ฝรั่งเศส 1924


เรื่องราวของ 2 นักกรีฑา จากสหราชอาณาจักร ฮาโรลด์ อับราฮัม ชาวอังกฤษเชื้อสายยิว และ เอริค ลิดเดิล ชาวสกอตแลนด์
ฮาโรลด์ อับราฮัม กลายเป็นวีรบุรุษของชาวอังกฤษไปทันทีที่ชนะเลิศ วิ่ง 100 เมตร
เพราะเป็นนักกรีฑาชาวอังกฤษและทวีปยุโรปคนแรก ที่แย่งแชมป์รายการนี้มาได้จากลมกรดสหรัฐ

แต่เบื้องหลังของเรื่องนี้ก็คือ ฮาโรลด์ อับราฮัม ไม่ได้ถูกวางให้เป็นมือ 1
ในการวิ่งรายการนี้
ตัวเก็ง ตัวความหวัง ที่มีสถิติการวิ่งดีกว่า คือ เอริค ลิดเดิล
แต่ เอริค ลิดเดิล ได้สร้างความตกตะลึงให้กับกองเชียร์
เมื่อเขาขอถอนตัว ไม่ยอมลงวิ่งรายการนี้
เนื่องจาก เป็นวันอาทิตย์ เขาต้องไปโบสถ์
ตามวิถีของคริสตศาสนิกชนที่ดี

แต่ที่น่าตกตะลึงกว่านั้นก็คือ ในวันต่อมา เอริค ลิดเดิล กลับมาลงแข่ง
ในรายการวิ่ง 400 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เขาไม่ถนัด
และเขาคว้าเหรียญทอง
เขากล่าวกับนักข่าวว่า "เป็นไปตามความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า"


Harold Maurice Abrahams (December 15, 1899 – January 14, 1978)


Eric Henry Liddell (January 16, 1902 – February 21, 1945)


เอริค ลิดเดิล เป็นผู้มีความศรัทธาในศาสนามาก เพราะเขาเกิดในครอบครัวมิชชันนารี (เอริค ลิดเดิล เกิดในประเทศจีน ขณะที่พ่อแม่เขาไปเผยแพร่ศาสนาอยู่ที่นั่น)
ภายหลังเลิกเล่นกรีฑา เขาก็ดำเนินรอยตามพ่อแม่ ด้วยการเดินทางกลับไปยังเมืองจีน เป็นมิชชันนารีเผยแพร่ศาสนาที่นั่น เช่นเดียวกัน

เรื่องราวความประทับใจเกี่ยวกับยอดนักกรีฑาแห่งสหราชอาณาจักรสองคนนี้ ได้รับการถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม เป็นภาพยนตร์เรื่อง "Chariots of Fire"
ที่คว้าออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในปี 1982
หลายคนยังจำหนัง "ภาพสวย" และ "เพลงซึ้ง" เรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะเพลง
ออริจินัลสกอร์ Chariots of Fire จากการบรรเลงของ Vangelis


ยังมีเกร็ดเล่าขานเกี่ยวกับตำนานนักวิ่งสองคนนี้อีก
อย่างเช่น ในอีก 56 ปี ต่อมา
เมื่อ อลัน เวลส์ นักวิ่งชาวอังกฤษ ชนะเลิศวิ่ง 100 เมตร ในโอลิมปิก 1980
ที่มอสโก เป็นคนที่สองในประวัติศาสตร์ต่อจาก ฮาโรลด์ อับราฮัม
เขากล่าวว่า เหรียญทองเหรียญนี้ ขออุทิศให้แด่ เอริค ลิดเดิล ยอดนักวิ่ง 100 เมตร ที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร แต่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสเหรียญทองนี้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
7. คบเพลิงอันสั่นไหวของ โมฮัมหมัด อาลีโอลิมปิกครั้งที่ 26
แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา 1996

ภาพความทรงจำอันน่าประทับใจในโอลิมปิกครั้งนี้
นอกจากภาพการแข่งขันในกีฬาประเภทต่าง ๆ แล้ว
ยังมีภาพหนึ่ง ที่สร้างความประทับใจ อยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดไป
คือ ภาพ โมฮัมหมัด อาลี อดีตแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่ พยายามจุดคบไฟ
และชูขึ้นด้วยมืออันงกเงิ่น ร่างกายสั่นเทาอยู่ตลอดเวลา

บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว เมื่อได้เห็นภาพนี้
มันก้ำกึ่งอยู่ระหว่าง สงสาร กับ ปลาบปลื้ม ดีใจ ที่ได้เห็นวีรบุรุษนักกีฬา
ผู้เคยยิ่งยงเกรียงไกรในสังเวียน
ทว่าชีวิตบั้นปลาย กลับต้องต่อสู้กับ โรคพาร์กินสัน ที่ทำให้เขาหมดสภาพ
นักกีฬาผู้แข็งแกร่งในอดีต
เหลือแต่ภาพชายแก่ผู้เดินเหินลำบาก กระดิกเนื้อตัวไปมายากเย็น และควบคุมกล้ามเนื้อตัวเองไม่ได้

โมฮัมหมัด อาลี หรือ แคสเซียส เคลย์ กล่าวโดยไม่ต้องยกย่องมากมาย
ก็สามารถกล่าวได้ว่า นี่คือ นักกีฬาหมายเลขหนึ่งแห่งศตวรรษ
(หลังขึ้นศควรรษใหม่ ปี 2000 สำนักข่าวส่วนใหญ่ โหวตให้ อาลี เป็นนักกีฬาหมายเลข 1 แทบทั้งสิ้น)


ภาพคลาสสิกตลอดกาล อาลี ตะบัน ซอนนี ลิสตัน ลงไปกอง
แต่กลับไม่ยอมเดินกลับเข้ามุมให้กรรมการนับ
ยืนค้ำตัวตะโกนอยู่อย่างนั้น จนกรรมการต้องมาไล่ให้เข้ามุม

เด็กหนุ่มวัย 18 ปี ที่ก้าวขึ้นครองเหรียญทอง มวยสากลสมัครเล่น รุ่นไลท์เฮฟวีเวท ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 17 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในปี 1960
ก่อนจะก้าวขึ้นครองตำแหน่ง แชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวท ผู้ยิ่งใหญ่
ในชีวิตนักมวยของเขานั้น นอกจากจะได้ชื่อว่า เป็นสุดยอดนักมวยผู้ "โบยบินเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง"
เขายังสร้างสีสันมากมายไว้ในวงการ ไม่ว่าจะลีลา คุยโว ทำนายผลการชก
หรือแม้กระทั่งความกล้าหาญ ของเขา ทั้งการขว้างเหรียญทองโอลิมปิกทิ้งลงในแม่น้ำโอไฮโอ
เพราะความคับแค้นจากการถูกเหยียดผิว
(โอลิมปิคสากล ได้ทำเหรียญทองมอบให้เขาใหม่ ในปี 1996)
หรือแม้กระทั่ง ไม่ยอมรับหมายเกณฑ์ทหารไปรบสงครามเวียดนาม
พร้อมคำพูดบันลือโลก "ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับเวียดกง"
อันเป็นผลให้เขาถูกปลดออกจากแชมป์โลก ถูกสั่งห้ามขึ้นชกในหลายมลรัฐของอเมริกา เป็นเวลานาน

ถึงวันนี้ อาลี มีอายุ 65 ปี ยังคงทนทุกข์ทรมานอยู่กับโรคพาร์กินสัน
แต่เมื่อหวนรำลึกไปถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 1996
ที่โมฮัมหมัด อาลี พยายามชูคบเพลิงที่เปลวไฟพลิ้วไหวสั่นระริกขึ้นเหนือศรีษะ
เราจะมองเห็นภาพ แชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่ สถิตอยู่ในภายในตัวเขา ตลอดกาล
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
8. ศึกชิงเจ้าลมกรดแห่งศตวรรษ ที่จบลงด้วยเรื่องอื้อฉาวโอลิมปิกครั้งที่ 24
โซล เกาหลีใต้ 1988


ไฮไลท์สำคัญของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้
คนทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่ ศึกชิงเจ้าลมกรด วิ่ง 100 เมตรชาย
ที่จะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง "คิงคาร์ล" คาร์ล ลูอิส ลมกรดชาวสหรัฐ แชมป์เก่าจากโอลิมปิกครั้งก่อนที่ลอสเอลเจลิส กับ "บิ๊กเบน" เบน จอห์นสัน เจ้าของสถิติโลกคนล่าสุด 9.83 วินาที ชาวแคนาดา
ถึง แม้ บิ๊กเบน ดูจะมีภาษีดีกว่า ตรงที่เป็นเจ้าของสถิติโลกอยู่ แต่หลายคนก็เชื่อว่า คิงคาร์ล น่าจะมีทีเด็ดพอจะต่อสู้กับบิ๊กเบนได้ โดยเฉพาะประสบการณ์ ความนิ่ง ความเจนสังเวียนโอลิมปิกมากกว่า

แต่การชิงชัยจบลง อย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่สูสี ไม่ได้ลุ้นเลย
เบน จอห์นสัน วิ่งนำตั้งแต่ต้นจนจบ เข้าเส้นชัยอย่างขาดลอย
ทำลายสถิติโลกของตัวเองลงเหลือเพียง 9.72 วินาที
ชนิดที่มีคนแซวว่า ถ้าเกิด เบน จอห์นสัน ไม่ชูมือและหันไปมองข้างหลัง
ตอนจะเข้าเส้นชัย สถิติคงดีกว่านี้อีก

แต่อีก 3 วันต่อมา ผู้คนก็ช็อคกันทั้งโลก
เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ออกมาประกาศว่า ตรวจพบสารต้องห้ามสเตียรอยด์ ในการสุ่มตรวจโด๊ป เบน จอห์นสัน
จึงเป็นอันว่า สถิติและบันทึกการแข่งขันทั้งในครั้งนี้และครั้งก่อน ๆ
ของ เบน จอห์นสัน ถูกลบออกโดยสิ้นเชิง
เหรียญทอง ถูกยึดคืน นำมามอบให้กับ คาร์ล ลูอิส คนได้ที่สอง
เบน จอห์นสัน ถูกแบน ห้ามวิ่งเป็นเวลา 2 ปี

โอลิมปิก ที่กรุงโซลครั้งนี้ นอกจากเรื่องอื้อฉาวบันลือโลกของนักวิ่งชื่อดังรายนี้แล้ว ยังได้รับการกล่าวขานว่า เป็นโอลิมปิกครั้งที่เกิดเรื่องอื้อฉาวในการใช้ยาโด๊ปมากที่สุด
นอกจาก เบน จอห์นสัน แล้ว ยังมีนักกีฬาที่ถูกตรวจพบสารกระตุ้นอีกถึง 4 คน

นอกจากนั้น ยังมีกรณีการโกงการแข่งขันแบบหน้าด้าน ๆ
เช่น กรณีของ รอย โจนส์ จูเนียร์ นักชกสหรัฐ ที่ยำนักชกเจ้าภาพแทบจะสลบคาเวที แต่ครบยกกรรมการกลับชูมือให้นักมวยเจ้าภาพชนะไปหน้าตาเฉย
รวม ถึง พี่เลี้ยงนักมวยชาติเจ้าภาพอีกเช่นกัน ได้ขึ้นมาไล่ต่อยกรรมการบนเวที เพราะไม่พอใจผลการตัดสิน (อาจคิดว่า ล็อกผลการชกไว้แล้ว ทำไมไม่เป็น
ไปตามนั้นละวะ)

กลายเป็น โอลิมปิกครั้งที่ อื้อฉาว น่าอับอายที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ประเทศทั่วโลก ต้องจดจำ "เกาหลีใต้" ไว้ชั่วชีวิต
(ก่อนจะมาจดจำ ความระยำตำบอนครั้งใหม่ ในฟุตบอลโลก ที่เกาหลีใต้เป็น
เจ้าภาพ อีกครั้ง)

ในส่วนของ เบน จอห์นสัน นั้น
หลังจากพ้นโทษแบนแล้ว ก็กลับมาทำการแข่งขันใหม่อีกครั้ง
แต่อีกไม่นาน ก็ถูกตรวจพบว่า มีสารกระตุ้นต้องห้าม อีกครั้งคราหนึ่ง
กลายเป็นนักกีฬาซาตาน ที่ไม่ได้ผุดได้เกิดในวงการกรีฑาไปเลย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
9. จิม โธร์ป เกียรติยศที่ได้รับคืนมา ภายหลังชีวิตหาไม่โอลิมปิกครั้งที่ 5
สต็อกโฮล์ม สวีเดน 1912

จิม โธร์ป (Jacobus Franciscus "Jim" Thorpe 1888 - 1953)

จิม โธร์ป เป็นนักกีฬาผู้โชคร้าย ถูกยึดเหรียญรางวัลที่ได้รับ
ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังถูกลบชื่อออกจากสารบบนักกีฬาโอลิมปิก
เพราะถูกจับได้ว่า เขาไม่ใช่นักกีฬาสมัครเล่น

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของ จิม โธร์ป ขอเท้าความถึงคำว่า "นักกีฬาสมัครเล่น" ที่มีส่วนสำคัญกับคำว่า "กีฬาโอลิมปิก" มายาวนาน
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ก่อนหน้านี้ กีฬาโอลิมปิก เคร่งครัดในเรื่องสถานภาพนักกีฬา "ห้ามนักกีฬาอาชีพ" ลงแข่งในโอลิมปิกเด็ดขาด
ความเป็น "นักกีฬาสมัครเล่น" นี้ นอกจากจะต้องไม่เคยเป็นนักกีฬาอาชีพ
(เล่นแล้วได้เงิน) ไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม
ยังหมายถึงว่า จะต้องไม่รับข้าวของ เงินรางวัล อันจะให้ด้วยความเสน่หา หรือ จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า อันใดเลย
เรียกง่าย ๆ ว่า "นักกีฬาสมัครเล่น" ห้ามรับเงินในทุกกรณี
สมัยก่อน เคร่งครัดกันปานนั้น


กลับมาเรื่องของ จิม โธร์ป นักกรีฑาชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียนแดง
ที่เข้าร่วมแข่งขัน ปัญจกรีฑา และ ทศกรีฑา ในโอลิมปิกที่สต็อกโฮล์ม
และได้รับเหรียญทองไปทั้ง 2 ประเภท
กษัตริย์กุสตาฟที่ห้า แห่งสวีเดน ถึงกับตรัสยกย่องว่า จิม โธร์ป คือ
"นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก"

แต่ภายหลังจากนั้นไปอีก 6 เดือน
จิม โธร์ป ก็ถูกโอลิมปิก ประกาศยึดเหรียญรางวัล เพราะได้รู้ข่าวว่า
ก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นนักเบสบอลในลีกเล็ก ๆ ประจำเมือง
ได้รับเงินค่าตัว 25 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
นอกจากจะไม่ได้รับเหรียญรางวัลแล้ว เขายังถูกลบชื่อออกจาก รายชื่อนักกีฬาที่เคยเข้าแข่งขันโอลิมปิก อีกด้วย
เป็นความเจ็บปวด อย่างแสนสาหัส ของนักกีฬาสมัครเล่นคนหนึ่ง
ที่เคย "เผลอ" รับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ จากกีฬาที่โอลิมปิกเรียกว่า "กีฬาอาชีพ"

จิม โธร์ป หันหลังให้วงการกีฬาสมัครเล่น
ไปสร้างชื่อโด่งดังกับกีฬาอาชีพหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เบสบอลหรืออเมริกันฟุตบอล จนกลายเป็นนักกีฬาระดับตำนานของชาวอเมริกัน

เขาเสียชีวิตเมื่อปี 1953
และหลังจากนั้นอีก 70 ปี จากวันที่เขาถูกริบเหรียญรางวัล
ในปี 1982  คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)
จึงได้ทำการคืนเหรียญรางวัลให้เขา

และบรรจุชื่อเขากลับเข้าสู่ทำเนียบนักกีฬาที่ได้เข้าแข่งในโอลิมปิกดังเดิม

จิม โธร์ป ได้รับเกียรติยศกลับคืนมา
ภายหลังที่เขาสิ้นลมหายใจไปแล้วถึง 29 ปี

ปัจจุบันนี้ ความเคร่งครัด ของคำว่า "นักกีฬาสมัครเล่น" กับการแข่งขันโอลิมปิก ได้คลายความเข้มข้น จนแทบไม่เหลือถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ของคำว่า
"นักกีฬาสมัครเล่น" อีกต่อไปแล้ว
นับตั้งแต่ นักกีฬา สามารถรับเงินรางวัลได้ มาจนกระทั่ง นักกีฬาอาชีพ
ก็สามารถเข้าร่วมแข่งโอลิมปิกได้ โดยเริ่มมาแต่ปี 1988
อัน เนื่องมาจาก ความเปลี่ยนแปลงของการกีฬา ได้โลกาภิวัฒน์ไปสู่ธุรกิจการกีฬา จนแทบจะเรียกได้ว่า โลกนี้ ไม่มีนักกีฬาสมัครเล่นอีกต่อไปแล้ว
ถ้าโอลิมปิก ยังดันทุรัง ยึดมั่น ในถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ว่าด้วย นักกีฬาสมัครเล่น
เท่านั้นถึงจะแข่งโอลิมปิกได้

ก็คงจะไม่มี กีฬาโอลิมปิก ให้เราดูอีกต่อไป เป็นแน่แท้


หมายเหตุ : ปัจจุบันนี้ ยังคงเหลือกีฬาอยู่ประเภทเดียว ที่จำแนกนักกีฬาสมัครเล่น-รับเงินไม่ได้ กับนักกีฬาอาชีพ ไว้อย่างชัดเจน คือ กีฬากอล์ฟ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
10. อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน นักมวยใจปลาซิวผู้ถูกริบเหรียญรางวัลโอลิมปิกครั้งที่ 15
เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ 1952

อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน (Ingemar Johansson 1932 - )

ในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น รอบชิงชนะเลิศ รุ่นเฮฟวีเวท
ระหว่าง เอ็ด แซนเดอร์ นักมวยสหรัฐ กับ อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน นักมวยสวีเดน
กรรมการได้ยุติการแข่งขัน จับอิงเจมาร์ โยฮันส์สัน แพ้ด้วยข้อหา
"ไม่ยอมต่อสู้"
หรือจะพูดภาษามวยบ้านเราก็ต้องบอกว่า "ชกไม่สมศักดิ์ศรี" นั่นเอง

การถูกจับแพ้ครั้งนี้ ร้ายแรงมาก เพราะคณะกรรมการตัดสิน มีมติ
"ไม่มอบเหรียญรางวัล" (เหรียญเงิน) ให้กับ อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน อีกด้วย

เป็นข่าวความอื้อฉาวครั้งใหญ่ ในโอลิมปิก 1952
ผู้คนในประเทศสวีเดน บ้านเกิดของ โยฮันส์สัน มีทั้งที่ไม่พอใจคำพิพากษาของคณะกรรมการ เห็นใจ อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน
ทั้งที่ประณามก่นด่า อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน ว่าเป็นนักชกขี้ขลาด ใจปลาซิว
ทำความขายหน้าให้แก่ประเทศชาติ

อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า
เขาไม่ได้ขี้ขลาดหรือกลัวคู่ต่อสู้ จนเอาแต่ถอยหนีไปรอบเวที ไม่ยอมชก
แต่เป็นการวางแผนการชกเพื่อดูชั้นเชิงคู่ต่อสู้
เขาไม่รู้สึกเสียใจ ที่ถูกจับแพ้ ไม่ได้เหรียญทอง
แต่เสียใจ แต่ถูกข้อกล่าวหาร้ายแรง ว่าเป็นนักชกขี้ขลาด
และเสียใจเป็นที่สุด ที่ถูกโอลิมปิก ยึดเหรียญรางวัล กลายเป็นตราบาปเขาไปตลอดชีวิต


อีกหลายปีต่อมา อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน นักชกผู้เคยถูกประณามว่า
เป็นคนขี้ขลาด ใจปลาซิว ไม่กล้าสู้
ได้ลบล้างคำปรามาสของคนทั้งโลก ด้วยการก้าวขึ้นเป็น "แชมป์โลก"
มวยอาชีพรุ่นเฮฟวี่เวท คนแรกและคนเดียวของประเทศสวีเดน
โดยเอาชนะน็อค ฟลอยด์ แพตเตอร์สัน อดีตนักมวยเหรียญทองโอลิมปิก
รุ่นมิดเดิลเวท
ปีเดียวกับเขา

กลายเป็นตำนานแห่งวงการมวย
ผู้ลบล้างมลทินให้ตัวเองได้อย่างหมดจดงดงาม

อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน ชนะน็อก ฟลอยด์ แพตเตอร์สัน คว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท

ในปี 1982 สามสิบปีภายหลังแมตช์อัปยศที่เฮลซิงกิ
คณะกรรมการโอลิมปิก ได้ลงมติ คืนเหรียญรางวัล เหรียญเงิน ให้กับ อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน ขณะเขามีอายุได้ 50 ปี

อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน ในมาดนักวิ่งมาราธอน

อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน ถือเป็นนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง
ในตำนานนักกีฬาชาวสวีเดน
หลังเลิกชก แขวนนวมไปแล้ว อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน ยังใส่ใจในสุขภาพและการออกกำลัง
โดยหันมาสนใจการวิ่งระยะไกล จนกลายเป็นนักวิ่งมาราธอนวัยสูงอายุชื่อดังของโลก คว้ารางวัลจากการวิ่งมาราธอน มาแล้วทั่วโลก

ปัจจุบัน อิงเจมาร์ โยฮันส์สัน อายุ 75 ปี ยังคงแข็งแรง สุขภาพดี ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ ในเมืองโกเตนเบอร์ก บ้านเกิด


จอมณรงธร ศรีอริยนันท์ (ตี๋)
 3 สิงหาคม 2012
สมัครเข้ากลุ่มเฟสภาษาตะวันตกได้ที่ 
https://www.facebook.com/groups/365756166805480/ 



                                                





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น