ข้อมูลโดย : รองศาสตราจารย์อัศนีย์ ชูอรุณ
ฟรานซิสโก โกยา (Francisco José de Goya y Lucientes)
ประเทศสเปน พ.ศ. 2289 – 2371
นักประวัติศาสตร์หลายคนมีความคิดเห็น เกี่ยวกับความชอบเรื่องความฝันเฟื่องของโกยา เลยถือว่าเขาเป็นศิลปินลัทธิโรแมนติกนั้น การที่เขาเขียนภาพจำลองบุคลิกภาพของมนุษย์ออกมาอย่างเปิดเผย ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร่ใช้คำว่า ศิลปินลัทธิเรียลิสต์กับเขาด้วย การระบุด้วยคำหลังนี้ดูเหมือนว่าจะถูกต้องแน่นอนทีเดียว สมกันกับที่ผลงานอันมีจินตนาการของเขา ได้เน้นถึงการยอมรับความเป็นจริงแห่งการกระทำอันไร้เหตุผลในประสบการณ์มนุษย์
"ใต้ร่มเงาแดด" พิพิธภัณฑ์ปราโด กรุงมาดริด ประเทศสเปน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ศิลปกรรมของโกยาก็แตกต่างไกลลิบกับผลงานของศิลปินลัทธิเรียลิสต์ แห่งฝรั่งเศสในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ครูของโกยาหลายคนเป็นครูช่างจุลศิลป์ แต่ครูช่างเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีอิทธิพลแก่ศิลปกรรมของโกยาเท่าไรนัก อิทธิพลโดยมากมาจากจิตรกรรมของติเอโปโล และเบลาซเกซมากกว่า
"3 พฤษภาคม พ.ศ. 2351" พ.ศ. 2357-58 สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาดภาพราว 9 ฟุต X 11 ฟุต พิพิธภัณฑ์ปราโด กรุงมาดริด ประเทศสเปน ในผลงานที่แสดงวุฒิภาวะเต็มที่ของโกยา เป็นการใช้ลักษณะผิวผิดแผกแตกต่างกันจนดูพร่านัยน์ตา แบบอย่างศิลปะของเขา มีตั้งแต่การใช้แสงที่จ้ามากกับรูปทรงที่เรียบมาก เรื่อยไปจนถึงการใช้แสงที่นุ่มนวลกับผลลักษณะมวลและส่วนละเอียดของภาพ ที่ดูเหมือนว่ามองผ่านอากาศอันมีละอองหนาแน่น ในภาพ “วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2351” ซึ่งแสดงให้เห็นประชาชนชาวสเปนกำลังถูกทหารของนโปเลียนยิงอยู่นั้น เป็นแบบอย่างศิลปะการใช้แสงจ้า การรวมกลุ่มรูปร่างต่าง ๆ เข้าเป็นเนื้อที่ของแสงสว่างและเงามืดแบบง่าย ๆ ได้ช่วยเพิ่มความเข้มข้นให้กับกิริยาท่าทางเรื่องราว และช่วยกระชับภาพองค์ประกอบโดยรวมได้ด้วย จากภาพนี้โกยาได้กรุยทางให้กับศิลปกรรมของมาเนในกาลต่อมาด้วย
"พระราชวงศ์พระเจ้าชาลส์ที่ 4" พ.ศ. 2343 พิพิธภัณฑ์ปราโด กรุงมาดริด ประเทศสเปน การแสดงความคิดเห็นต่อสังคม มีอยู่แจ่มแจ้งชัดเจนในภาพเหมือนบางภาพของโกยาด้วยเหมือนกัน ภาพ “พระราชวงศ์พระเจ้าชาลส์ที่ 4” ได้เปิดเผยอย่างจริงใจถึงความจริงในสภาพธรรมดา หรือถึงความดุร้ายของบุคคลอันมีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป และได้แสดงการตัดกันในระหว่างลักษณะเหล่านี้ กับลักษณะเสื้อผ้าอาภรณ์อันหรูหราฟุ่มเฟือยมากทีเดียว การแสดงออกอย่างเรียบง่ายและจริงใจของโกยานี้ ได้ทำให้ทางราชการทึ่งในผลงานของเขามาก เขาจึงกลายเป็นจิตรกรประจำองค์กษัตริย์ และประจำตัวประธานราชบัณฑิตสถานแห่งสเปนด้วย
"ซาตาน สวาปามลูกน้อย" พ.ศ. 2462-66 รายละเอียดส่วนหนึ่งของภาพ ขนาดราว 4 ฟุต 9 นิ้ว X 2 ฟุต 8 นิ้ว พิพิธภัณฑ์มูเซโอ เดล ปราโด กรุงมาดริด ประเทศสเปน
ผลงานของโกยาที่มีลักษณะน่าหวาดกลัวและลึกลับมาก ที่เรียกกันว่า “จิตรกรรมสีดำ” นั้น มีทำไว้บนผนังบ้านของเขาในช่วงพุทธศักราช 2363-73 ความคิดเห็นทางสังคมอย่างรุนแรงที่สุด และความฝันเฟื่องอย่างไม่หยุดยั้งของเขานั้น ส่วนมากพบได้ในภาพพิมพ์ชุด “การเปลี่ยนใจง่าย” ซึ่งเป็นผลงานภาพพิมพ์เทคนิคกัดกรดวิธีแอควะทินต์ชุดหนึ่งของเขา มีจำนวน 82 ภาพ แสดงเป็นรูปคนในลักษณะที่ไร้เหตุผล มีความต่ำต้อย มีความอ่อนโยน และมีความรุนแรง
"ความ ฝันของเหตุผล" ราว พ.ศ. 2337-42 ภาพพิมพ์กัดกรด จากชุด "การเปลี่ยนใจง่าย" ขนาดภาพราว 8 นิ้ว X 5 นิ้ว พิพิธภัณฑ์มูเซโอ เดล ปราโด กรุงมาดริด ประเทศสเปน
ภาพชุด “ลักษณะต่าง ๆ กัน” เป็นภาพพิมพ์เทคนิคแอควะทินต์อีกชุดหนึ่งของเขา มีจำนวน 22 ภาพ ภาพพิมพ์ชุดนี้เผยให้เห็นจินตนาการอันแปลกพิลึกของโกยา เป็นทัศนภาพอันพิลึพิลั่นที่เรียงไว้เป็นลำดับ บ่อยครั้งทีเดียวที่ยังมีความหมายคลุมเครือ แต่ผลลักษณะโดยส่วนรวมเป็นเรื่องของความหวาดกลัว และความมีเสน่ห์อย่างหนึ่งจากการเฝ้าสังเกตดูมนุษย์เรา
"แขวนคอ" พ.ศ. 2353 ภาพพิมพ์กัดกรด จากชุด "ความหายนะของสงคราม" หอสมุดสาธารณะนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
มนุษยธรรมและความโหดร้ายชิงชังกันของมนุษย์ เป็นสาระสำคัญของภาพชุด “ความหายนะของสงคราม” ภาพพิมพ์เทคนิคแอควะทินต์ จำนวน 83 ภาพนี้ เป็นการเสนอประมวลภาพความดุร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นในประเทศสเปน ในช่วงสมัยที่นโปเลียนปกครองอยู่ทั้งสิ้น
จอมณรงธร (ตี๋)
ประธานชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2555-56
กลุ่ม "รวมบาป"
27 ตุลาคม 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น