วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

กูบา ผ้าขี้ริ้วห่อทอง

 ข้อมูลโดย เปิดโลกวันอาทิตย์ : soudai@yahoo.com

คิวบา'2วรรณะกลมกลืน'

              
 กลับมาจาก “คิวบา” หลายวันแล้ว แต่ความรู้สึกตื่นเต้นเมื่อก้าวเท้าแรกลงสู่ถนนกรุงฮาวานา ยังคงไม่ลืม....
              
ช่วงเวลาหลายสิบปีมานี้ ผู้เขียนโชคดีมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวและทำงานในหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่มีที่ไหนทำให้หัวใจเต้นแรงได้เท่ากับเกาะคอมมิวนิสต์ในฝันแห่งนี้
                
ขณะกำลังสูดหายใจเอาบรรยากาศของเมืองหลวงเข้าไปลึกๆ หูก็ซึมซับเสียงดนตรีจังหวะเอกลักษณ์ของคิวบาเข้าไปพร้อมๆ กัน ทั้งเมืองเต็มไปด้วยเสียงดนตรี ทั้งจากวงสดที่เล่นตามร้านอาหาร หรือจากลำโพงร้านกาแฟ ร้านขายของ แม้กระทั่งในตลาดสดยังมีเสียงเพลงสนุกสนานเปิดกล่อมทุกเช้า... ผู้เขียนก้มหน้าโฟกัสกล้องถ่ายรูปไปยังผักผลไม้หน้าตาแปลกประหลาด แล้วจู่ๆ ก็มีแม่ค้าเข้ามาดึงมือให้ร่วมเต้นระบำจังหวะ “ซัลซาคิวบา” ด้วยกัน ผู้เขียนเลยต้องเต้นไปด้วย ซื้อผลไม้ไปด้วยความครื้นเครง


 ชาวคิวบาเรียกตัวเองว่า "คิวบัน” ส่วนพวกเราหน้าเจ๊กผิวขาว เขามักทึกทักว่าเป็นพวก “ชิโน” ภาษาสเปนแปลว่า คนจีน ประเทศนี้แทบหาคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นเมืองขึ้นสเปนมานานกว่า 200 ปี เมื่อภาษาพูดใช้ไม่ได้ผล นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไปคงต้องใช้ภาษากายกับภาษาใจเพื่อสื่อสาร 2 ชาติพันธุ์ที่แตกต่างให้กลมกลืน
                เสน่ห์ของเมืองฮาวานา หรือออกเสียงให้ถูกก็คือ "อาบานา" อยู่ที่การพยายามเชื่อมโยงผู้คนจาก 2 ฟากฝั่ง หรือ 2 วรรณะ ให้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ถนนหน้าเอล กาปิโตลิโอ (El Capitolio) หรือตึกรัฐสภาเก่า รูปทรงอาร์ตนูโว อายุเกือบ 100 ปี เปรียบเสมือนแนวกั้นเขตแดน ฝั่งหนึ่งหากเดินลึกเข้าไปตามถนนดิอาโกเนส (Dragones St.) เรื่อยๆ จะเห็นร้านขายของ ขายแซนด์วิช พิซซ่า และร้านขายเหล้าของคนท้องถิ่น รวมถึงห้องพักอาศัยที่แบ่งซอยอยู่บนตึกสูงสีส้ม ฟ้า เหลือง เขียว สามล้อถีบรับส่งคนส่งของขวักไขว่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของสีสันพื้นเมือง

ขณะที่ถนนพลาซ่า บิเอฆา (Plaza Vieja) อีกฝั่งหนึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่มาเยี่ยมเยียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ร้านขายของที่ระลึก ซิการ์ เหล้า ฯลฯ คึกคักและร้านอาหารไฮโซระดับ 3-4 ดาว รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งเรียงกันอยู่รอบจัตุรัสบิเอฆา แต่ที่ประทับใจคือ รถยนต์ยุคซิกส์ตี้ อายุกว่า 40-50 ปี หลากหลายยี่ห้อ วิ่งอวดความงามแบบคลาสสิก ล่อให้นักท่องเที่ยวควักกล้องมาถ่ายแบบวางไม่ลง
                
 ย้อนอดีตไป คิวบาเป็นเมืองขึ้นของสเปนต่อเนื่องยาวนานเกือบ 200 ปี จากนั้นโดนอเมริกาเข้ามาครอบครองต่ออีกกว่า 20 ปี ก่อนที่กองทัพกู้ชาติ นำโดย “เช กูวารา” และ “ฟิเดล คาสโตร” จะมาขับไล่ออกไปจากเกาะและปฏิวัติให้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบเมื่อ ปี พ.ศ.2502 เปรียบเทียบพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1 แสน ตร.กม.แล้ว ถือว่าเล็กกว่าไทยเกือบ 5 เท่า แบ่งการปกครองเป็น 14 จังหวัดบวก 1 เขตปกครองพิเศษ ประชากรปัจจุบัน 11 ล้านคน 

                มีเรื่องเล่าขานว่า ห้วงเวลาที่ชาวสเปนเข้ามายึดเกาะนี้ ได้ไล่ฆ่าชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเกือบหมดเกาะ แล้วสนับสนุนให้นำทาสผิวดำจากแอฟริกามาช่วยงานแทน คิวบันจึงมีส่วนผสมของหลายผิวสี จึงไม่น่าแปลกใจที่มีฝรั่งผมทองตาสีฟ้าหน้าตาเหมือนพระเอกหนังเดินขายไอติม หรือสาวผิวสีหน้าตาสะสวยอย่างกับนางแบบละติน นั่งเฝ้าหน้าห้องน้ำสาธารณะ ไม่เฉพาะที่เมืองหลวงอาบานาเท่านั้น ทุกจังหวัดเต็มไปด้วยชาวพื้นเมืองผิวขาวเดินเล่นคุยกันอย่างกลมกลืนกับคน พื้นเมืองอเมริกาใต้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยยังเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบสเปน แม้ว่าจะขาดการบำรุงซ่อมแซม ส่วนอาหารการกินและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตยังคงเอกลักษณ์แบบยูโรเปี้ยนไว้ เหมือน 300 ปีที่แล้ว
               
หากใครช่างสังเกตหน่อยจะเห็นว่า คิวบันส่วนใหญ่ชอบเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ตั้งแต่เช้าแล้วเปิดดนตรีเสียงดังให้ เล็ดลอดออกมา หากเจ้าของบ้านวัยรุ่นหน่อยจะนำเครื่องเสียงเสตอริโอสีดำหิ้วได้ หน้าตาแบบเดียวกับที่เคยฮิตในเมืองไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาวางเปิดเพลงอยู่ริมหน้าต่าง ตามถนนจะมีผู้คนยืนจับกลุ่มคุยกันตลอดทั้งวัน หรือยกเก้าอี้ออกมานั่งสูบซิการ์หน้าบ้าน คนส่วนใหญ่ไม่ไปทำงาน แต่ก็ไม่ได้มีทีท่าน่าสงสารแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลมีระบบช่วยเหลือด้วยการแจกคูปองอาหารให้ทุกเดือน สามารถนำไปแลก ข้าว ถั่วดำ น้ำตาล นม ไข่ กล้วย ฯลฯ จากร้านสวัสดิการซึ่งตั้งอยู่ตามมุมเมือง ครอบครัวไหนประหยัดหน่อยไม่มีลูกหลาน ก็นำอาหารที่เหลือไปขายให้คนอื่น ได้เงินสะสมไว้ซื้อทีวี พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ

               งบประมาณที่เอามาซื้อของแจกคือภาษีคนทำงานนั่นเอง รัฐบาลเก็บภาษีร้อยละ 70 เอามาแจกจ่ายให้คนตกงาน รายได้หลักนอกจากอุตสาหรรมน้ำตาลที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 แล้ว กิจการใหญ่ๆ ทั้งหมดจะเป็นของรัฐบาล คนทำงานเป็นเพียงลูกจ้าง เงินเดือนประมาณ 500-1,000 บาท ส่วนใหญ่ทำงานในบริษัทรถทัวร์ ธนาคาร พิพิธภัณฑ์ โรงแรม ร้านขายของที่ระลึก ร้านเหล้า ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาลฯลฯ รายได้มาจากนักท่องเที่ยว ใครที่มีเส้นสายหน่อยจะเปิดร้านค้าขายเล็ก ๆเช่น ขายหมวก ขายพิซซ่า ถั่ว สรุปคือหากไปทำงานแล้วต้องจ่ายภาษีร้อยละ 70 หนุ่มสาวคิวบันจึงเลือกที่จะเดินเล่นหรือยืนชิวแซวกันไปมาตามท้องถนนมากกว่า
                

ไลฟ์สไตล์ของคิวบันดูเหมือนจะน่าอิจฉา ไม่ต้องทำงานก็มีคูปองแจกอาหารฟรี แต่เบื้องลึกแล้วพวกเขาอยากได้มากกว่านั้น โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมอิสระในโลกไฮเทคหรือสังคมออนไลน์ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นงูพิษร้ายที่ต้องควบคุมอย่างเข้ม งวด ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ อินเทอร์เน็ต ไวไฟ ฯลฯ มีไว้สำหรับบริการ "วรรณะนักท่องเที่ยว" หรือเศรษฐีคิวบันเท่านั้น
  ภาพที่เห็นคือหนุ่มคิวบันนั่งไขว่ห้างดูดซิการ์จิบโมฮิโต มองดู ชาวต่างชาติยืนหน้านิ่วคิ้วขมวดกดๆๆๆ ไอแพด ไอโฟน ไอมินิ หรือ สมาร์ทโฟนหลากยี่ห้อระหว่างรอคิวร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ภายในมีคอมพิวเตอร์รุ่นโบราณตั้งวางอยู่ ทำงานโหลดเว็บแบบกระดึ๊บๆ กว่าอีเมลจะมาแต่ละฉบับรอจนเกือบหลับ...
                ในที่สุดชาวโลกผู้มี 3จี หรือไวไฟติดตัว 24 ชั่วโมงอย่างผู้เขียนก็กลั้นใจวางทิ้งอุปกรณ์ไฮเทคคู่ใจทุกอย่างไว้ในโรงแรม สละซึ่งวรรณะจอมปลอมแล้วชวนกันออกมาเดินสูดกลิ่นไอคอมมิวนิสต์อย่างดื่มด่ำ เปิดใจซึมซับเรียนรู้ชาวคิวบันผู้กล้านิยามตัวเองว่าเป็น "ประเทศยากจนที่สะดวกสบายที่สุดในโลก"

จอมณรงธร (ตี๋)
กรรมการชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2556-57
กลุ่ม "Fanclub FS"
20 มีนาคม 2013
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น