วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การประชุม ฺBRICS

          
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ดร.สมชาย  ภคภาสน์วิวัฒน์

ผ่านไปแล้ว สำหรับการประชุมสุดยอดของผู้นำกลุ่ม BRICS ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ผลการประชุมของกลุ่มประเทศ BRICS ในครั้งนี้ ได้มีการประสานนโยบายโดยกำหนดท่าทีร่วมกันในเรื่องของการปฎิรูปธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อให้สิทธิและเสียงแก่ประเทศเกิดใหม่ ลดการครอบงำของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 


กลุ่มประเทศ BRICS ได้เน้นท่าทีต่อประเด็นปัญหาซีเรียและอิหร่านนั้นต้องคลี่คลายด้วยการเจรจาไม่ใช่การใช้กำลัง นอกจากนั้นกลุ่มประเทศ BRICS ยัง มีความเห็นร่วมกันในอันที่จะปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อ เปิดโอกาสให้ประเทศเกิดใหม่มีที่นั่งเพิ่มขึ้น (ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงบราซิลและอินเดียนั่นเอง) กลุ่มประเทศ BRICS ยังได้มีความเห็นร่วมกันในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่มขึ้น และจะ ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างตลาดหุ้นในประเทศสมาชิก

กลุ่มประเทศ BRICS นั้น กำเนิดขึ้นมาในโลกยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งเป็นยุคที่โลกกำลังอยู่ในภาวะของการผลัดเปลี่ยนเพื่อหาดุลยภาพใหม่ เป็นโลกของการแข่งขันในทางเศรษฐกิจในขณะที่ความมั่นคงได้เปลี่ยนรูปแบบจาก การเผชิญหน้าระหว่างค่ายที่มีอุดมการณ์ต่างกันในยุคสงครามเย็นมาเป็นภัยคุก คามที่มีรูปแบบหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อการร้าย ความขัดแย้งในด้านศาสนาและดินแดน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นยุคข้อมูลข่าวสารซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จุดใดจุดหนึ่งสามารถที่จะกระทบไป ยังจุดอื่น ๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนดังกล่าวนี้เองทำให้สถานภาพของความเป็นรัฐชาติไม่สามารถที่จะมี สมรรภาพหรือพลังเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามคามดังกล่าวได้โดยลำพัง 
 ยิ่งกว่านั้น ในยุคหลังสงครามเย็นซึ่งมีสหรัฐอเมริกาที่ดูมีพลังที่โดดเด่นและไม่มีพลังใดที่จะถ่วงดุลสหรัฐอเมริกาดังในยุคสงครามเย็น ประเทศต่าง ๆ จึงต้องพยายามหาแนวทางเพื่อป้องปรามการถูกครอบงำจากอภิมหาอำนาจแนวทางหนึ่ง ก็คือการรวมตัวในทางเศรษฐกิจ การเมือง ดังเห็นได้จากการขยายตัวของการรวมกลุ่มเขตการค้าเสรีหรือประชาคมเศรษฐกิจที่ ขยายไปยังทุกภูมิภาคของโลก ในบริบทดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของการรวมตัวของกลุ่มประเทศ BRICS


ความจริงกลุ่มประเทศ  BRICS นั้นมีสิ่งที่เหมือนกันและแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย สิ่งที่เหมือนกันก็คือทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศเกิดใหม่ มีจำนวนประชากรที่สูง และมีพลวัตรในการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง รวมถึงทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้ ได้มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะเปิดเสรี ขณะที่บทบาททางการเมืองในเวทีโลกก็มีการขยายเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่แตกต่างกันก็คือในขณะที่ประเทศจีนและรัสเซียยังเป็นประเทศเผด็จการ (แม้รัสเซียจะดูเป็นประชาธิปไตยก็ตาม) ในขณะเดียวกันประเทศอินเดีย บราซิลและแอฟริกาใต้มีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม ประเทศรัสเซียมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาพลังงานจากก๊าซและน้ำมันเป็นสำคัญ


ใน ขณะที่จีน บราซิล มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีการกระจายตัวกันมากกว่า ในทางการเมืองนั้นจีนและอินเดียก็ยังเป็นคู่แข่งที่ต่างคนต่างไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ทั้งยังมีดินแดนที่ติดกันและเคยมีปัญหากันมาในอดีต จีนและอินเดียมีสิ่งที่เหมือนกันคือมีความต้องการที่จะรักษาสถานภาพของความ เป็นมหาอำนาจการถ่วงดุลสหรัฐอเมริกาในขณะที่แอฟริกาใต้นั้นไม่มีภาพที่เด่นชัดในส่วนนี้
การรวมตัวกันของ 5 ประเทศในกลุ่ม BRICS ที่ มีความแน่นแฟ้นและกำลังพัฒนาไปสู่การจัดโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นนั้น เกิดจากแรงผลักดันของบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของโลก กลุ่มประเทศเหล่านี้แม้จะมีความแตกต่างกันในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแต่ก็สามารถหาจุดร่วมในอันที่จะประสานท่าทีและนโยบายในส่วน ที่จะเป็นลักษณะเกมบวก (positive sum game) ได้ กล่าวคือเป็นการรวมตัวในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกันโดยในส่วนประเด็นที่แตกต่างนั้นไม่ต้องไปกล่าวถึง

กลุ่มประเทศ BRICS นั้นมีประชากรเท่ากับร้อยละ 40 ของประชากรโลกและมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เท่ากับร้อยละ 25 และประเทศต่าง ๆ เหล่านี้กำลังมีบทบาททางการเมืองในเวทีภูมิภาคและโลก การรวมกลุ่มของกลุ่มประเทศ BRICS จึงเป็นการสร้างพลังใหม่ในโลกยุคหลังสงครามเย็น


อย่างไรก็ตามการรวมตัวของกลุ่มประเทศ BRICS นั้น จะไม่มีวันที่จะแน่นแฟ้น เนื่องจากความแตกต่างทางด้านนโยบายทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางด้าน ต่างประเทศหรือความมั่นคงและนอกจากนั้นในบางกรณีก็มีลักษณะที่เป็นคู่แข่ง หรืออริซึ่งกันและกัน (ระหว่างจีนกับอินเดีย) อย่างไรก็ตามการรวมตัวของกลุ่มประเทศ BRICS นั้น ถือเป็นปรากฎการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อโลกที่จะต้องจับตามอง


กลุ่มประเทศ BRICS อาจถือเป็นพลังใหม่และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของระเบียบโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น


จอมณรงธร ศรีิอริยนันท์ (ตี๋)
30 พฤษภาคม 2012 
สมัครเข้ากลุ่มเฟสภาษาตะวันตกได้ที่ 
https://www.facebook.com/groups/365756166805480/ 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น