วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทวีจันทรา (Artemis)

ข้อมูลจาก Dek-D.com
เทวีผู้ครองการล่าสัตว์ ทรงนามว่า ไดอานา (Diana) หรือ อาร์เตมิส เทวีองค์นี้เป็น เจ้าแม่ที่เคารพบูชาของพวกพรานโดยเฉพาะ และเป็นเจ้าของสัตว์ป่าทั้งปวง แต่สัตว์ที่เจ้าแม่โปรดปรานมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กวาง โดยที่แสงเดือนเพ็ญเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การเดินป่า และล่าสัตว์ในเวลากลาง-คืน คนทั้งปวงจึงนับถือเจ้าแม่ในฐานะ เทวีครองแสงเดือนด้วย และในที่สุดก็อุปโลกน์เจ้าแม่เป็นดวงเดือนในชื่อว่า ฟีบี (Phoebe) บ้าง เซลีนี (Selene) ซึ่ง เป็นชื่อเรียกเทวีประจำดวงเดือนหรือจันทรเทวีมาแต่เดิมทั้ง 2 ชื่อ ต่อมาในระยะหลัง ๆ เขายังเอา เหกกะตี (Hecate) เทวี ครองความมืดในข้างแรมและไสยศาสตร์มารวมกับเจ้าแม่หมายเป็นเทวีองค์เดียวกันอีกด้วย

เจ้าแม่อาร์เตมิสเป็นเทพธิดาคู่แฝดผู้พี่ของ อพอลโล สุริยเทพของกรีก เกิดแต่ซูสเทพบดีกับนางแลโตนา หรือ ลีโต (Latona ,Leto) (แต่บางตำนานกล่าวว่าเป็นธิดาของเทพไดโอนิซัสกับไอซิส แต่ผู้คนมักรู้จักเทวีอาร์เตมิส ในฐานะธิดาของ ซูสมากกว่า รวมทั้งท่านโฮเมอร์นักกวีชาวกรีกกล่าวไว้เช่นนี้ด้วย) เมื่อตอนเกิดคลอดยากนักหนา ถึงแก่นางแลโตนาเกือบเอา ชีวิตไม่รอด เจ้าแม่รู้สึกในความเจ็บปวดทนทุกข์เวทนาอย่างใหญ่หลวงของมารดา เลยพลอยรังเกียจการวิวาห์ถึงกับขอประทาน อนุญาตจากเทพบิดาในอันที่จะขอไม่มีคู่ครอง แม้เหล่าเทพบนเขาโอลิมปัสแสดงความปรารถนาใคร่จะได้วิวาห์ด้วยเจ้าแม่ก็ไม่ไย ดีคงยืนกรานที่จะดำรงชีวิตโสดถ่ายเดียว และวิงวอนต่อเทพบิดา ด้วยเหตุผลนี้ซูสจำต้องประทานอนุญาตให้ เจ้าแม่ขอประทาน นางอัปสรโอเชียนิค 60 กับอัปสรอื่นอีก 20 ซึ่งล้วนแต่ไม่ยินดีในการวิวาห์เป็นบริวารติดสอยห้อยตามได้แล้ว ก็พาบริวารเที่ยว เสด็จประพาสไปตามราวป่า เพลิดเพลินเป็นนิตย์นิรันดร
ทุกเวลาเย็นอาทิตย์อัสดง พอตะวันตกลับโลกไปแล้ว เจ้าแม่อาร์เตมิสก็ทรงจันทรยานเทียมม้าขาวปลอดดั่งสีนมพเนจร ไปในห้วงเวหา ผ่านดวงดาราเดียรดาษ ซึ่งต่างก็ทอแสงจ้าระยิบระยับรับเจ้าแม่ไปตลอดทาง ในระหว่างที่ท่องเที่ยวไปเจ้าแม่มักจะ โอนองค์ลงระเมียรพิภพโลก อันอยู่ในความหลับท่ามกลางแสงสลัวเลือนลางดังภาพฝัน พลางสูดสุคนธรสแห่งบุปผชาติอันจรุงฟุ้งขึ้น ไปแต่ไกลเนือง ๆ

ในคืนหนึ่ง ขณะที่เจ้าแม่จรอยู่เหนือแว่นแคว้นแดนคอเรีย พลันเจ้าแม่ก็แลสบภาพหนุ่มน้อยคนหนึ่ง นอน หงายหน้าอาบแสงเดือนอันอ่อนละมุนอยู่ริมเขา เจ้าหนุ่มนี้คือคนเลี้ยงแกะรูปงามชื่อ เอนดิเมียน (Endymion) กำลังอยู่ในอาการม่อยหลับ ความงามของเจ้าหนุ่มเมื่อต้องแสงจันทร์เป็นที่พิสมัยแก่เจ้าแม่อาร์เตมิสนัก เจ้าแม่อด รัญจวนไว้มิได้ จึงยอรถให้หยุดฉับพลัน ลงจารถลอยเลื่อนลงมาจุมพิตริทฝีปากเผยอน้อย ๆ ของเจ้าหนุ่มเบา ๆ แล้วลอย เลื่อนกลับไป
ในขณะนั้นเองเอนดิเมียนฟื้นตื่น แต่จิตยังอยู่ในภวังค์ ค่อยลืมเปลือกตาขึ้นอย่างปรือ ๆ เห็นภาพคลับคล้าย คลับคลาพึงพิศวง บัดดลก็สะดุ้งตื่น ลุกขึ้นขยี้ตาเหลียวมองรอบข้าง ครั้นเห็นดวงจันทร์กำลังลอยเลื่อนลิ่ว ๆ อยู่ในฟากฟ้า ก็นึกแน่ว่า เหตุที่ประสบกับตนเป็นแค่ความฝันเท่านั้น แต่ความฝันก็แสนจะดื่มด่ำใจเสียยิ่งกระไร หวังจะได้ฝันเห็น ดังนั้นอีกครั้งหนึ่ง
 

เอนดิเมียนฝังใจในความฝันนั้นหนักหนา เที่ยวซอกซอนค้นหาเทพธิดาในฝันไปตามที่ต่าง ๆ แม้กระทั่งใน ทะเลลึก ฝ่ายอมรเทพทั้งปวงรู้ความเสน่หา ที่เจ้าแม่ประสาทแก่เมษบาลผู้เป็นแต่มรรตัยบุคคล ก็พากันพิศวงสนเท่ห์ยิ่ง นัก เพื่อตัดทางที่จะทำให้เรื่องอื้อฉาว ซูสจึงบังคับเอนดิเมียนให้เลือกเอาว่าจะยอมตายด้วยวิธีหนึ่งตามแต่จะพึงประสงค์ หรือจะยอมนอนหลับโดยไมมีเวลาตื่นในถ้ำแห่งหนึ่งบนยอดเขาแลตมัส(Latmus) เอนดิเมียนเลือกเอาประการ หลัง และ ณ ที่นั้นคนโบราณเขาเชื่อว่าเอนดิเมียนคงนอนหลับตลอดกาล โดยเจ้าแม่อาร์เตมิสผู้ซื่อสัตย์ แวะเวียนไป เยือนเจ้าหนุ่มทุกคืน และเฝ้าดูแลฝูงแกะที่เจ้าหนุ่มทอดทิ้งไปเพื่อค้นหาเจ้าแม่ด้วย
อาร์เตมิสเป็นเทวีที่มีอุปนิสัยโหดเหี้ยมและดุร้าย น่าแปลกที่ชาวกรีกกลับให้ความเคารพนับถือเจ้าแม่เป็นอัน มาก ตำนานหลายฉบับกล่าวไว้ตรงกันว่านางมักลงโทษผู้ที่ทำให้ขุ่นเคืองอย่างรุนแรง มีผู้เตราะห์ร้ายหลายรายถูกเจ้าแม่ ลงโทษอย่างน่าสยดสยอง ดังเรื่องราว 2-3 เรื่องต่อไปนี้
วันหนึ่งเมื่อเทวีอาร์เตมิสทรงจันทรยานดำเนินไปตลอดราตรีกาลแล้ว จึงถือศรคู่หัตถ์ลงจากรถ ออกล่าสัตว์ป่า มีนาง อัปสรบริวารติดสอยห้อยตามดุจเคย เวลาบ่ายหนึ่งในฤดูร้อนภายหลังที่เที่ยวตามสัตว์ ด้วยความตื่นเต้นเป็นเวลานานผิดกว่า เคยเจ้าแม่กับบริษัทบริวารก็พากันมาถึงหนองน้ำนิ่งแห่งหนึ่งแห่ง ลำเนาเขา น้ำใสเย็นแพรวพรายชวนให้ลงสรงสนาน เจ้าแม่และบริวารทั้งปวงจึงพากันเปลื้องเครื่องทรง ชุดล่าสัตว์ลงโสรจสรงในละหานนั้นเป็นที่สำเริงสำราญยิ่งนัก
แต่วันนั้นเจ้าแม่และบริวารใช่จะเป็นพรานคณะเดียวที่ออกล่าสัตว์ก็หาไม่ ยังมีนายพรานชื่อ แอคเตียน (Actaeon) ออกเที่ยวล่าสัตว์หาเนื้อแต่รุ่งอรุณอีกคนหนึ่งด้วย พอเวลาบ่ายตะวันชาย แอคเตียนเหน็ดเหนื่อยโรยกำลังและกระหายน้ำ จึงมุ่งหน้ามายังละหานแห่งเดียวกันนั้นเหมือนกัน 
ในขณะที่เข้าไปใกล้ละหานนั้น แอคเตียนแว่วเสียงสำรวลสรวลดังมาจากละหานแต่ไกล จึงย่อง เมียงเข้าไปอย่างระมัดระวัง เมื่อถึงระยะพอมองเห็น เขาก็ค่อยบรรจงแหวกกิ่งไม้ใบหนาแง้มมองดู เห็น เทวีอาร์เตมิสกับบริษัทบริวารสรงสนานอยู่ เป็นภาพที่ ไม่เคยมีมนุษย์คนใดมีโอกาสได้พบเห็นซักครั้งหนึ่ง เลย


ในขณะนั้นเองเจ้าแม่ซึ่งสันทัดจัดเจนกับความเป็นไปในราวป่าได้สดับเสียงใบไม้ไหว เหลียวขวับมาเพื่อจะ ดูให้ แน่ใจว่า เสียงนั้นเกิดจากเหตุใด ก็ประสบสายตาจ้องมองอย่างตะลึงพรึงเพริดของนายพรานหนุ่มผู้พิศวง เจ้าแม่ โกรธนักที่ เจ้าหนุ่มบังอาจละลาบละล้วง จึงกอบน้ำด้วยอุ้งหัตถ์ซัดสาดตรงไปยังใบหน้าของเจ้าหนุ่มทันที
 
พอหยดน้ำกระทบหน้าเจ้าหนุ่ม เขาก็รู้สึกตัวว่าร่างของเขากลายเปลี่ยนเป็นกวางไปเสียแล้ว พร้อมกับมีเขางอก ขึ้นแผ่ กิ่งก้านสาขางามสะพรั่งให้รู้สึกเสียใจนัก ในขณะที่เขายืนนิ่งงันในรูปกวางอยู่ ณ ที่นั้นเอง ก็แว่วเสียงสุนัขล่าเนื้อ ของเขาเอง เห่าอยู่ในที่ไกลเที่ยวตามหานาย
แอคเตียนสะดุ้งตกใจสยิวสยองไปทั่วทุกขุมขน จึงขยับออกจะวิ่งหนีเข้าป่า แต่อนิจจา ! ช้าไปเสียแล้ว ฝูงสุนัขเห็นเขา เข้าแล้ว มันพากันวิ่งกรูเกรียวตามกระชั้นเข้าไปเป็นพรวน กวางแอคเตียนเจ้ากรรมพยายามโกยหนีสุดกำลัง แต่ไม่พ้น พอล้ม ฮวบลงกับพื้นเพราะอิดโรย สุนัขทั้งฝูงก็กระโจนเข้ารุมงับคอหอยถึงแก่ความตายอยู่กับที่ตรงนั้นนั่นเอง
อีกรายหนึ่งทำผิดเพียงเล็กน้อย ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสลงทัณฑ์อย่างไม่เป็นธรรม เรื่องมีอยู่ว่า มานพหนุ่มผู้หนึ่งชื่อ ว่า อัดมีทัส (Admetus) ซึ่งมัวปลื้มใจที่ได้แต่งงานกับสาวงามจึงหลงลืมที่จะถวายเครื่องสักการะบูชาแด่องค์เทวี เท่านั้น เจ้าแม่ ก็โกรธกริ้วบันดาลให้ห้องหอของอัดมีทัสมีแต่งูพิษเต็มไปหมด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวอีกเรื่องที่คล้าย ๆ กันนั่นคือ กษัตริย์แห่งเมืองคาลีดอนนามว่า เอนีอัส (OeNeus) เกิดลืม ถวายพืชผลที่เก็บเกี่ยวจากไร่นาของพระองค์เป็นครั้งแรกแด่เทวีอาร์เตมิสตามธรรมเนียม เจ้าแม่ก็บันดาลให้โคป่าเข้าบุก ดินแดนของกษัตริย์เอนีอัส มิหนำซ้ำเมื่อครอบครัวของเอนีอัสออกไปปราบวัวก็ถูกวัวบ้าสังหารตายเสียทั้งครอบครัวเป็นที่ น่าเวทนายิ่ง
แต่ชะรอยบาปคงจะตามสนองเทวีอาร์เตมิสเข้าให้บ้างเหมือนกัน ทำให้เจ้าแม่ได้รับความเจ็บปวดร้าวทุกข์ทรมานเนื่อง จากสูญเสียคนอันเป็นที่รักไปด้วยน้ำมือตนเอง

ในกาลครั้งหนึ่งยังมีนายพรานร่างกำยำทรงพลังยิ่งคนหนึ่ง ชื่อว่า โอไรออน (Orion) กำเนิดอันแท้จริงของเขาไม่มี ประวัติแน่ชัด หากแต่ถือกันว่า เขาเป็นบุตรของเทพเจ้าแห่งทะเล โปเซดอน (เนปจูน) และสามารถลุยทะเลลึก บางคนก็ว่าเดิน ไปบนพื้นน้ำทะเลได้
ในเวลากลางวันโอไรออนออกเที่ยวตระเวณไปตามราวป่าตลอดวัน มีสุนัขที่แสนซื่อชื่อว่า ซิริอัส (Sirius) ตามต้อย ไปด้วย วันหนึ่งเขาได้พบกับนางอัปสรทั้ง 7 เรียกว่า พลียาดีส (Pleiades) ที่กลางป่า ให้บังเกิดความเสน่หา จึงตามนาง เหล่านั้นไปอย่างเร่งร้อน แต่นางอัปสรก็เร่งหนีจนกระทั่งอ่อนกำลังจวนเจียนจะไม่พ้น นางเหล่านั้นจึงขอร้องให้เจ้าแม่อาร์เตมิส ช่วย เจ้าแม่ก็โปรดช่วยดังที่เคยโปรดแก่บริวารของเจ้าแม่เสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อโอไรออนกระหืดกระหอบตามไปทันก็พลันได้ เห็นนกพิราบสีขาวดังหิมะ7 ตัว บินขึ้นสู่ฟากฟ้าพอดี
ในฟากฟ้า นกพิราบทั้ง 7 เปลี่ยนไปอีกด้วยอำนาจบันดาลขอลเจ้าแม่อาร์เตมิส กลายเป็นกลุ่มดาวซึ่งเรียกว่า พลียาดีส เปล่งประกายระยิบระยับเรืองโรจน์ แต่เมื่อกรุงทรอยเสียแก่ข้าศึกนั้น ดาวกลุ่มนี้สลัวลงด้วยความเศร้า และดวงหนึ่ง ซึ่งมีอารมณ์แรงกว่าเพื่อนถึงแก่มือมัวลับจากสายตาไปเพื่อซ่อนตัวให้พ้นตาคน
ฝ่ายโอไรออนแม้มิสมหวังก็มิได้เสียใจนานนัก ต่อมาเขาก็ผูกสมัครรักนาง มิโรปี (Merope) ธิดาท้าว อีโนเปียน (Oenopion) เจ้าครองเกาะ ไคออส (Chios) โดยความมุ่งมั่นที่จะวิวาห์ด้วยกับนาง โอไรออนอุตส่าห์ล่าสัตว์ป่าเสียจนเตียนไปทั้งเกาะ เอาสัตว์ที่ล่าได้เป็นกำนัลแด่สาวเจ้าและบิดา แต่เมื่อโอไรออนออกปาก ขอนางมิโรปีต่อบิดาของนางทีใด บิดานางก็ผัดเจ้าล่อไปทุกที ก็แหละโอไรออนนั้นมีนิสัยวู่วาม ไม่อดทนในการที่จะต้องคอยเรื่อยไปไม่มีกำหนดเวลาเช่นนี้เขาจึงตัดสินใจที่จะรวบรัดด้วยวิธีฉุดคร่านางมิโรปีด้วยกำลังหักหาญ แทนการวิวาห์โดยเปิดเผย ซึ่งจะกำหนดกันเมื่อใดก็ไม่รู้ ;แต่ท้าวอีโนเปียนรู้ทันจึงจัดการตัดไฟแต่ต้นลมเสียก่อน โดยมอมเหล้าโอไรออนจนเมา ทำให้ตาบอด แล้วเอาไป ทิ้งริมทะเล
โอไรออนเสียทั้งรักทั้งดวงตา ฟื้นตื่นขึ้นไม่รู้จะไป ณ แห่งหนใด แต่อาศัยความรู้ของนายพรานฟังเสียงของ ค้อนของยักษ์ไซคลอปส์ในเกาะ เลมนอส (lemnos) ดั้นด้นไปจนถึงถ้ำตีเหล็กของยักษ์ ฝ่ายยักษ์ตนหนึ่งมีความ สงสารจึงอาสาพาโอไรออนดุ่มเดินไปทางทิศตะวันออก ช่วยให้ได้พบกับสุริยเทพ อพอลโล และอาศัยแสงสว่างรักษา ดวงตาให้กลับคืนเป็นปกติ
เมื่อกลับเป็นปกติดังเดิมแล้ว โอไรออนก็กลับล่าสัตว์อีก ตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน 


โดยตอนนี้เองเทวีอาร์เตมิสได้ พบเขาในป่าและได้คบหาชอบพอกันมาก อพอลโล เห็นท่าไม่ชอบกลในมิตรภาพ ทั้งนี้เกรงว่าภคนีเทวีจะกลับสัตย์ ปฏิญาณที่ตั้งไว้เดิมว่าจะครองความเป็นพรหมจารีตลอดไปนั้นเสีย จึงคิดอุบายให้มิตรภาพนั้นยุติลงอย่าง เด็ดขาด

วันหนึ่งอพอลโลเห็นโอไรออนเดินลุยทะเลโผล่หัวอยู่เหนือพื้นน้ำ จึงเรียกอาร์เตมิสเข้าไปและชวนคุยเรื่อง ฝีมือธนูศิลป์จนอาร์เตมิสตายใจ แล้วทำให้อาร์เตมิส ลองฝีมือ โดยให้ลองยิงอะไรที่ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำทะเลดู ว่าจะถูก หรือไม่ ฝ่ายเทวีขมังธนูก็ยิงธนูออกไปฉับพลัน หาเฉลียวใจไม่ว่าอะไรดำ ๆ นั้นคือหัวของโอไรออน ลูกธนูถูกเป้าหมาย อย่างแม่นยำ ครั้นคลื่นซัดสาดโอไรออนเข้าฝั่ง เจ้าแม่อาร์เตมิสจึงรู้ว่าได้ทำอะไรลงไป ให้รู้สึกเศร้าเสียดายนักถึงแก่ หยาดอัสสุชลเป็นอันมาก แล้วเจ้าแม่ จึงแปลงโอไรออนกลายเป็นกลุ่มดาวพร้อมด้วยสายรัดเอว ดาบ และกระบองคู่มือ ของเขา อยู่ในท้องฟ้าต่อจากกลุ่มดาวพลียาดีส และแปลงสุนัขของเขาให้กลายเป็นดาวซิริอัส อยู่ท้ายกลุ่มดาวโอไรออน ด้วยตั้งแต่บัดนั้นมา
เรื่องราวนายพรานโอไรออนนี้นั้น มีบางตำนานกล่าวถึงการตายของนายพรานหนุ่มคนนี้แตกต่างกันออกไป กล่าวคือขณะที่ไปล่าสัตว์ด้วยกัน โอไรออนเกิดไปสัมผัส ถูกกายของเทวีอาร์เตมิสเข้า ความที่ไม่ยอมให้ชายใดเข้าใกล้ เจ้าแม่เผลอตัวลงโทษลงโทษบุรุษคนแรกที่บังอาจสัมผัสกายเจ้าแม่ทันที โทษที่อาร์เตมิสบันดาลให้เป็นไปนั้น มาในรูป ของแมงป่องพิษ ที่โผล่ขึ้นจากใต้ดินมากัดข้อเท้าของโอไรออน อันเป็นเหตุให้นายพรานอาภัพผู้นี้ล้มลงสิ้นใจตายต่อมา

เนื่องด้วยเทวีอาร์เตมิสรังเกียจการวิวาห์ถือครองพรหมจารี นอกจากนางจะไม่รัก ไม่วิวาห์แล้ว เจ้าแม่เองยังบังคับให้ บริวารของตนไร้รักและไร้คู่ตามไปด้วย หากผู้ ใดฝ่าฝืนถูกพิษรักเข้าให้ ก็จะถูกเจ้าแม่อาร์เตมิสลงโทษอย่างทารุณ ดั่งเช่น นางคัลลิสโตสาวใช้คนโปรด 

นางสวยงามจนซูสเทพบดีแอบหลงรัก จึงใช้เล่ห์เพทุบายจำแลงองค์เป็นอาร์เตมิส เข้าไปคลอเคลียใกล้ ๆ พอเทวีอาร์เตมิสรู้เข้าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ไม่ยักโกรธเทพพระบิดาผู้ก่อเหตุกลับหันไปเล่นงานคัลลิสโตผู้น่าสงสาร ด้วยการใช้ธนูยิงนางจนมอด ม้วยสิ้นใจไป
รูปสลักของเทวีอาร์เตมิสของชาวกรีกเป็นหญิงสาวอรชรแต่แข็งแกร่ง แต่งกายไม่เหมือนเทวีองค์อื่น ๆ โดยนุ่ง กระโปรงสั้นเหนือเข่า ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการล่า สัตว์นั่นเอง อาวุธที่โปรดปรานคือ ธนู มีหมีเป็นสัญลักษณ์ อุปนิสัยดี ๆ ในองค์ เทวีเท่าที่ค้นพบคือ ความรักในดนตรี และเล่นดนตรีต่าง ๆ ได้ไพเราะ เจ้าแม่ชอบการร้องเพลง และเต้นรำเหมือนน้องชาย คือเทพอพอลโล

จอมณรงธร ศรีอริยนันท์ (ตี๋)
22 กรกฎาคม 2012 
สมัครเข้ากลุ่มเฟสภาษาตะวันตกได้ที่ 
https://www.facebook.com/groups/365756166805480/ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น