ข้อมูลโดย Phuketindex.com
เทพฮาเดส เป็นโอรสของเทพโครนัส (Cronus) และ เทพีรีอา (Rhea)
เป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกันกับ เทพโพไซดอน (Poseidon) เทพีเฮสเทีย
(Hestia) เทพีดิมีเตอร์ (Demeter) เทพีฮีรา (Hera) และ มหาเทพซุส (Zeus)
เมื่อมหาเทพซุส โค่นเทพโครนัสบิดาของตนลงจากบัลลังก์แล้ว
เทพซุสได้แต่งตั้งเทพโพไซดอน ปกครองมหาสมุทร แม่น้ำทั้งปวง
และให้เทพฮาเดสปกครองดินแดนยมโลก หรือ นรก
เทพฮาเดสเป็นผู้ปกครองนรกซึ่งมีแต่ความมืดมิดและน่ากลัว
จึงไม่ได้ขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสบ่อยนัก อีกทั้งเทพองค์อื่น ๆ
ก็ไม่ชอบที่จะต้อนรับฮาเดสด้วย ดังนั้นฮาเดสจึงไม่มีชื่อเป็นหนึ่ง
ในเทพโอลิมปัส เฉกเช่นองค์อื่น ๆ
ฮาเดส หรือ เฮดีส (Hades) ชาวโรมันเรียกว่า พลูโต (Pluto)
เทพเจ้าผู้ปกครองนรก และโลกหลังความตาย ในตำนานถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์
เพราะเทพฮาเดสมีสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างภายใต้พื้นพิภพ
จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดีส (Dis) ซึ่งแปลตรงตัวว่า ทรัพย์สิน
นอกจากนี้ ฮาเดส ยังได้ชื่อว่าเป็นเทพที่มีความเที่ยงธรรมอย่างมาก ตัดสินความดี ความชั่ว ของคนตาย โดยปราศจากอคติใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวกันว่า พระองค์มีหมวกวิเศษอยู่ใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้สวมหายตัวได้ และพระองค์มีเทพผู้ช่วยในการตัดสินความดี ความชั่ว ในยมโลกอีก 3 องค์คือ ราดาแมนทีส ไมนอส ไออาคอส โดยมีชื่อเรียกว่า สามเทพสุภา และยังมี ฮิปนอส เทพแห่งการหลับไหล และ ทานาทอส เทพแห่งความตายคอยให้ความช่วยเหลืออยู่อีกด้วย
เทพเฮเดส กำลังลักพา เทพีเปอร์เซโฟนี
ครั้งหนึ่งเมื่อเทพฮาเดสได้เสด็จขึ้นมาบนพื้นโลก
ได้พบกับเทพีเปอร์เซโฟนี (Persephone) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ และเป็นธิดาของ
เทพีดิมีเตอร์ เทพีแห่งธัญญาหาร หรือพระแม่โพสพกับมหาเทพซุส ซึ่ง
เทพีเปอร์เซโฟนีก็เป็นหลานของเทพฮาเดสนั่นเอง
อย่างไรก็ตามเทพฮาเดสหลงรักเทพีเปอร์เซโฟนีทันทีที่พบนาง
พร้อมกับฉุดฝืนใจนาง พาลงไปสู่ดินแดนใต้พิภพ เพื่อครองคู่เมื่อเทพีดิมีเตอร์ทราบว่าธิดาของตน ถูกลักพาตัวก็ร้องเรียนต่อมหาเทพซุสให้ช่วยนำธิดาของเธอคืนมา มหาเทพ จึงส่งเทพเฮอร์มีส (Hermes) เป็นทูตไปเจรจากับเทพฮาเดส การเจรจาคราวนั้นมีเงื่อนไขว่า ถ้าเทพีเปอร์เซโฟนี ไม่ได้เสวยอะไรในยมโลก เทพฮาเดสต้องส่งนางคืนแก่เทพีดิมีเตอร์โดยทันที แต่หาก เทพีเปอร์เซโฟนี เสวยของในยมโลก เทพฮาเดส ก็จะมีสิทธิในตัวนาง ผลปรากฏว่าเทพีเปอร์เซโฟนีได้เสวยเมล็ดผลทับทิมไป 6 เมล็ด จึงตกลงกันว่าในแต่ละปี เทพีเปอร์เซโฟนี จะกลับขึ้นมาอยู่กับพระมารดาบนพื้นโลก 6 เดือน และต้องกลับไปอยู่กับเทพฮาเดสในยมโลกอีก 6 เดือน ช่วงที่เทพีเปอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่บนพื้นโลกนั้น เทพีดิมีเตอร์ มีความยินดีอย่างยิ่ง ทำให้แผ่นดินและพืชพันธุ์คืนสู่ความเขียวขจี พร้อมกับเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน และ เมื่อเทพีเปอร์เซโฟนี ต้องกลับไปอยู่ยังยมโลก พืชพรรณและแผ่นดินที่เขียวขจีก็จะเหี่ยวแห้งอับเฉา พร้อมกับเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว การที่เทพฮาเดสได้อยู่ร่วมกับมเหสีเพียง 6 เดือนในแต่ละปีนั้นสะท้อนถึง ความเปล่าเปลี่ยวของเทพฮาเดสได้เป็นอย่างดี
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เทพฮาเดส ทรงหลงเสน่ห์ความน่ารักของนางอัปสรนามว่า มินธี (Minthe) แต่ทว่าความรักนี้มิยั่งยืน ด้วยเหตุที่ เทพีดีมิเตอร์ ซึ่งมีฐานะเป็นแม่ยาย เห็นเทพฮาเดส ทำท่าจะนอกใจธิดาของตน เทพีก็พิโรธโกรธเกรี้ยวลงทัณฑ์จนมินธีนางอัปสรผู้น่าสงสารตาย เทพฮาเดส เวทนาสงสารนางอัปสรน้อยนั้น จึงเปลึ่ยนร่างของนางให้กลายเป็นพืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอม และได้กลายเป็นพืชประจำพระองค์ตลอดมา
อาณาจักรยมโลกของฮาเดสนั้นเป็น ดินแดนเร้นลับ อยู่ภายใต้พื้นโลกที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง คำว่า ฮาเดส เป็นภาษากรีกโบราณแปลว่า “มองไม่เห็น” ลักษณะของยมโลก ในตำนานของทุกชาติ มีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่เป็นสถานที่ที่ไม่มีใครอยากไปเยี่ยมชม ผู้ถูกลงทัณฑ์อยู่ในยมโลกก็อยู่ในสภาพทุกข์ทรมาน เจ็บป่วย เต็มไปด้วยทุกขเวทนา และเป็นดินแดนลี้ลับภายใต้พื้นพิภพ ที่แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ส่องไม่ถึง อาณาจักรแห่งนี้ จึงมืดมิด และหนทางที่จะลงไปก็ลำบากเอาการ เพราะต้องเดินทางไปถึงสุดขอบพิภพโดยข้าม มหาสมุทรไป (คนกรีกโบราณ เชื่อว่าโลกแบน และแวดล้อมด้วยมหาสมุทร)
จาก ความเชื่อนี้เอง จึงเกิดธรรมเนียมเอาเงินใส่ปากคนตายก่อนฝัง เพื่อใช้ในการข้ามแม่น้ำ 3 สาย คือ
1. แม่น้ำสติกซ์ (Styx) แปลว่าแม่น้ำแห่งความเกลียด
2. แม่น้ำลีธี หรือ เลเธ แปลว่าแม่น้ำแห่งความลืม เมื่อดวงวิญญาณคนตายได้ดิ่มน้ำแล้วจะลืมความหลังทั้งหมด
3. แม่น้ำ เฟลจีธอน หรือ เฟลเกทธอน แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำไฟ มีเปลวไฟลุกไหม้โชติช่วงอยู่บนผิวน้ำ และอยู่ล้อมรอบ นรกขุมลึกสุด คือ ทาร์ทะรัส
ชาวกรีกโบราณจะถวายการสักการะแด่ฮาเดสด้วยแกะดำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับสืบหาที่มาได้ค่อนข้างยาก แต่ก็มีการสืบทอดต่อกันมาว่า หากจะบูชาเทพแห่งความตายหรือเทพอันใด ที่เป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัวหรือชั่วร้าย ต้องบูชายัญด้วยแพะ หรือแกะดำ
จอมณรงธร ศรีอริยนันท์ (ตี๋)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น