วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ขนมไทยที่ได้มาจากประเทศโปรตุเกส

ที่มา catholic.or.th
 

       
     ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ทองโปร่ง ทองพลุ ทองม้วน ขนมตระกูลทอง รวมทั้งขนมหม้อแกง บ้าบิ่น ลูกชุบ ฯลฯ ไม่ใช่ขนมดั้งเดิมของประเทศไทย แต่ต้นตำรับเป็นของประเทศโปรตุเกส เข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดถูกรสนิยมไทย จึงถ่ายทอดแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

      ผู้ที่นำตำรับขนมเหล่านี้เข้ามามอบเป็นมรดกล้ำค่าให้คนไทย ก็คือ สตรีลูกผสมหลายเชื้อชาตินามว่า Marie Guimar de Pinha (มารี กีมาร์ ดี ปินยา) ซึ่งเป็นสตรีต่างชาติเพียงคนเดียวที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกเรื่องราวของเธอไว้ในนาม “ท้าวทองกีบม้า”

 

      โดยมารดาของท้าวทองกีบม้าชื่อ Úrsula Yamada (อุร์ซูลา ยามาดา) ซึ่งมีเชื้อสายญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ที่อพยพลี้ภัยทางศาสนาเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ส่วนบิดาชื่อ Fanik Guyomar (ฟานิก กูโยมา) ที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอลและโปรตุเกสจากอาณานิคมกัว

      มารี กีมาร์ เกิดที่กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2207 และได้แต่งงานกับ Κωνσταντίνος Γεράκης (โกนสตันตีนอส เกร้ากีส) อดีตกะลาสีเรือเร่ร่อนชาวกรีกใน พ.ศ.2225 ขณะที่ฟอลคอนมีบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระฤทธิ์กำแหง ซึ่งต่อมาเขาก็คือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ และเป็นเจ้าพระยาฝรั่งคนเดียวในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา

 


      ในขณะที่โกนสตันตีนอส เกร้ากีส มีอำนาจวาสนาอยู่ในราชสำนักนั้น คฤหาสน์ของเขาต้องต้อนรับแขกเหรื่อทั้งไทยและเทศเป็นประจำรวมทั้งคณะราชทูต จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาถึง 2 คณะ และอยู่กันเป็นเดือนๆ คุณหญิงฟอลคอนจึงต้องรับภาระจัดสำรับคาวหวานต้อนรับ ฝีมือปรุงอาหารของเธอเป็นที่เลื่องลือ จนสมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งให้ทำไปถวายหลายครั้ง

      ในรายการเหล่านี้ ขนมซึ่งใช้ไข่แดงกับน้ำตาลเป็นหลัก อันเป็นตำรับดั้งเดิมของประเทศโปรตุเกสที่เธอถ่ายทอดมาทางยายและแม่ จึงกลายเป็นของแปลกใหม่ในกรุงสยาม ทั้งยังมีสีเหลืองอร่ามเหมือนทอง นับเป็นขนมมงคล รสชาติก็ประทับใจ จนเป็นที่นิยมอย่างมากในราชสำนัก

 

      ขุนนางหลายคนขอให้มารีไปช่วยสอนฝ่ายครัวที่จวน ส่วนบรรดาลูกมือของเธอก็นำกลับไปทำให้คนทางบ้านได้ชื่นชมด้วย จนแพร่กระจายไปตามหมู่บ้าน

      ปัจจุบันขนมประเภทนี้ก็ยังมีแพร่หลายในประเทศโปรตุเกส และถือเป็นขนมชั้นสูงไม่ได้วางขายตามข้างถนนเหมือนในเมืองไทย แต่ก่อนสูตรการทำขนมเหล่านี้เป็นสูตรลับเฉพาะสำนักนางชี (Convento - กอนเวนตู) เท่านั้น ใช้ต้อนรับขุนนางและกษัตริย์ ไม่ได้แพร่หลายออกมาถึงชาวบ้าน ต่อมาสำนักนางชีที่เคยร่ำรวยเกิดยากจนลง บรรดาแม่ชีจึงทำขนมขายหาเงินเข้าวัด หรือแม่ชีคนสุดท้ายของสำนักนางชีไม่มีใครมารับหน้าที่ต่อ ก็ยกสูตรขนมหวานที่เก็บไว้ให้ลูกหลานทางบ้านก่อนที่ตัวเองจะเสียชีวิต ปัจจุบันตำราทำขนมประเภทนี้ที่วางขายอยู่ในประเทศโปรตุเกส มักจะใช้จุดขายโดยอ้างว่าเป็นตำรับของ “แม่ชีคนสุดท้ายของสำนักนางชี...” ซึ่งเป็นสำนักนางชีที่ถูกยุบไปแล้ว เหมือนที่ตำราอาหารของไทยเราก็มักอ้างว่าเป็นตำรับแม่ครัวชาววังนั่นแหละ




Participe do grupo do Facebook "Clube de línguas ocidentais da Universidade deRamkhamhaeng" ao https://www.facebook.com/groups/365756166805480/

สมัครเข้ากลุ่มเฟส "ชมรมภาษาตะวันตกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง" ได้ที่ https://www.facebook.com/groups/365756166805480/ 

 จอมณรงธร (ตี๋)
กรรมการชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2556-57
กลุ่ม "Fanclub FS"
3 กุมภาพันธ์ 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น