ข้อมูลโดย องค์การสวนสัตว์
ยีราฟ เป็นสัตว์สี่ขาที่สูงที่สุดในโลก เพราะขายาว และคอยังยาวที่สุดอีกต่างหาก มีเขาทั้งในตัวผู้และตัวเมีย ไม่ผลัดเขา เขามีขนปกคลุมอยู่
หนังมีขนสั้นสีน้ำตาล มีลายขาวแปลกตา ปากและลิ้นยาว ใช้ริมฝีปาก
และลิ้นม้วนวนจับใบไม้ได้ มีเต้านม 4 เต้า
พบเฉพาะในทวีปแอฟริกา แถบทุ่งหญ้าสะวันนา ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ตั้งแต่ไนจีเรียไปจนจรดแม่น้ำออเรนจ์
ยีราฟไม่ชอบกินหญ้ามากนัก ชอบกินใบไม้มากกว่า อาศัยอยู่ในทุ่งกว้างรวมกันเป็นฝูง และหากินร่วมกับสัตว์อื่นพวกม้าลาย
นกกระจอกเทศ และพวกแอนติโลป โดยยีราฟจะคอยระวังภัยให้
ตัวผู้มีการต่อสู้กันในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ศัตรูสำคัญของยีราฟคือเสือดาวและสิงโต
ซึ่งยีราฟป้องกันตัวโดยใช้หัวเหวี่ยงและใช้เท้าเตะ
ยีราฟเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุราว 3 ปีครึ่ง ตั้งท้องนาน 420 - 468 วัน
ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกหย่านมเมื่ออายุ 10 เดือน เป็นสัดทุก 14 วัน
แต่ละครั้งเป็นอยู่นาน 24 ชั่วโมง และมีอายุยืนประมาณ 20-30 ปีภาษาสเปน Jirafa (ฆิร้าฝะ)
ภาษาโปรตุเกส Girafa (ชิร้าฝะ)
ภาษาอิตาลี Giraffa (จิรัฟฝะ)
ภาษาฝรั่งเศส Girafe (ชิคราเฝอะ)
ภาษาเยอรมัน Giraffe (กิรัฟเฝอะ)
ภาษารัสเซีย Жирафа (ชือร้าฝะ)
ภาษากรีก Καμηλοπάρδαλη (กามิโลป้าดาลิ)
ข้อมูลโดย ของดี คนดัง
ความสูงและความยาวของคอยีราฟ ทำให้สัตว์เท้ากีบพื้นเมืองแอฟริกาชนิดนี้ได้สมญาว่า เป็นสัตว์บกที่สูงที่สุดในโลก ถึงแม้ว่ายีราฟจะไม่ใช่หนึ่งใน Big Five แห่งแอฟริกา (ช้าง สิงโต แรด เสือดาว และควายป่า) แต่เอกลักษณ์โดดเด่นหลายอย่างของมัน ก็ทำให้หลายคนนึกถึงพวกมันเช่นกัน
ในภาษาอังกฤษคำว่า Giraffe แท้จริงแล้วเพิ่งใช้กันแพร่หลายเมื่อศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ตาม ชาวอังกฤษรู้จักสัตว์ชนิดนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ในชื่อ Camelopardalis หรือ Camelopard ซึ่งเป็นการสนธิคำสองคำคือ Camel (อูฐ) และ Leopard (เสือดาว) โดยเป็นไปตามความคิดเห็นของชาวโรมันที่มองว่า ยีราฟนั้นมีลักษณะคล้ายอูฐ และมีลายตามตัวคล้ายเสือดาว ส่วนคำว่า Giraffe ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาจากคำว่า Ziraafa หรือ Zurapha ในภาษาอารบิก ที่แปลว่า สูง ชาวอิตาเลียนรับไปแปลงเป็นคำว่า giraffe ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น giraffe ในภาษาอังกฤษ
ยีราฟจัดเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกับกวางและวัว กล่าวคือ เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีเท้ากีบ และมีเขา ยีราฟมีความสูงได้ถึง 4-6 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 800-1,200 กิโลกรัม หัวใจของยีราฟหนักประมาณ 10 กิโลกรัม และสามารถสูบฉีดเลือดได้แรงกว่าหัวใจมนุษย์ถึง 3 เท่า เพื่อไปเลี้ยงสมองที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 8 ฟุต
ยีราฟมี 9 พันธุ์ ดังนี้
- Reticulated Giraffe หรือ Somali Giraffe ลายบนตัวของยีราฟพันธุ์นี้มีลักษณะคล้ายรูปทรงเหลี่ยม สีของลายมักมีสีแดงเข้มคล้ายสีตับ และมีร่างแหตัดเป็นสีเหลืองค่อนข้างขาว แหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณตอนเหนือของประเทศเคนยา และกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศโซมาเลีย และเอธิโอเปีย
- Kordofan Giraffe ลักษณะลายบนตัวเป็นรูปทรงเหลี่ยมขนาดเล็ก และมักมีลายเลยไปถึงด้านในขา พบได้บริเวณตะวันตกของประเทศซูดาน ภาคเหนือของประเทศแคเมอรูน และภาคใต้ของประเทศชาด
- Angolan Giraffe หรือ Smoky Giraffe พบได้ในประเทศแองโกลา และแซมเบีย ลายบนตัวมีขนาดใหญ่ และกินพื้นที่มาถึงบริเวณช่วงขาท่อนล่าง
- Maasai Giraffe หรือ Kilimanjaro Giraffe มีขนาดใหญ่ และสูงที่สุดในบรรดายีราฟทั้ง 9 พันธุ์ อาศัยอยู่บริเวณประเทศเคนยา และแทนซาเนีย ลักษณะลายบนตัวไม่เป็นรูปทรงเหลี่ยม สีของลายขึ้นอยู่กับสถานะของยีราฟในฝูง ผู้นำฝูงจะมีลายจุดสีเข้มกว่าตัวอื่น ๆ ในฝูง
- Nubian Giraffe พบได้บริเวณภาคตะวันออกของประเทศซูดาน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศคองโก (DRC) ลักษณะลายจุดคล้ายรูปสี่เหลี่ยมบนพื้นสีเหลืองอ่อนถึงขาว
- Rothschild Giraffe หรือ Baringo Giraffe หรือ Ugandan Giraffe มีสีลายบนตัวอ่อนกว่ายีราฟพันธุ์อื่น เป็นพันธุ์เดียวที่มีเขาขึ้นห้าตำแหน่ง สองเขาแรกเป็นเขาจริงที่เห็นได้ชัดบนหัว อีกหนึ่งเขาเป็นจุดที่มีลักษณะคล้ายเขาอยู่บริเวณเหนือจมูก อีกสองเขาเป็นจุดอยู่หลังใบหู Rothchild Giraffe พบได้ทั่วไปในประเทศเคนยา และบริเวณภาคเหนือของประเทศยูกันดา
- South African Giraffe จุดของยีราฟพันธุ์นี้จะไม่ค่อยเป็นเหลี่ยม แต่ดูออกเป็นลักษณะกลมมากกว่า พบได้บริเวณประเทศแอฟริกาใต้ นามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว และโมซัมบิก
- Thornicroft Giraffe หรือ Rhodesian Giraffe จุดบนตัวมีรูปทรงคล้ายใบไม้ หรือรูปทรงดาว พบได้ในประเทศแซมเบีย
- West African Giraffe หรือ Nigerien Giraffe พบได้บริเวณ Sahel Region ของแอฟริกาตะวันตก ตั้งแต่ประเทศเซเนกัลจนถึงประเทศแคเมอรูน พบมากในประเทศไนเจอร์ ลายบนตัวมีสีแดงออกเหลืองอ่อน ๆ ต่างจากพันธุ์อื่นที่มักมีลายสีออกแดง หรือน้ำตาลเข้ม
ยีราฟ เป็นสัตว์พื้นเมืองของแอฟริกา อาศัยอยู่บริเวณทุ่งสะวันนา หรือ ทุ่งหญ้าเปิดกว้าง อาหารของยีราฟคือ ใบและกิ่งก้านต้นอาคาเซียที่มักมีหนาม ลิ้นยีราฟจึงมีความด้านและหนาเป็นพิเศษ เพื่อการกินใบอาคาเซีย โดยยีราฟกินอาหารเฉลี่ยวันละ 20-30 กิโลกรัม ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สามารถอยู่ได้ด้วยอาหารวันละ 5-8 กิโลกรัม หากใครเคยพบยีราฟตวัดลิ้นรอบใบหน้า นั่นเป็นไปเพื่อไล่แมลงที่เกาะตามใบหน้าของมัน โดยลิ้นของยีราฟมีความยาวประมาณ 45-47 เซนติเมตรเลยทีเดียว ปกติยีราฟมักจะยืนเคี้ยวเอื้องใบอาคาเซียตามลำพัง อย่างไรก็ตาม สัตว์อื่น ๆ มักจะชอบอยู่ใกล้ยีราฟโดยเฉพาะเวลาที่พวกมันออกหาอาหาร เพราะคอที่สูงยาวของยีราฟ หมายถึง สายตาที่ยาวไกลสำหรับเฝ้าระวังนักล่าที่เป็นอันตรายอย่างสิงโตได้เป็นอย่าง ดี
ด้วยสภาพภูมิอากาศตามแหล่งที่อยู่อาศัยของยีราฟมีลักษณะแห้งแล้ง ทำให้พวกมันต้องดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ และเมื่อมีโอกาส ก็จะดื่มน้ำทีละเยอะ ๆ เพื่อกักตุนจะได้ไม่ต้องดื่มน้ำบ่อย เพราะการดื่มน้ำนั้น ยีราฟต้องก้มตัว ถ่างขาหน้า เป็นท่าทางที่เปิดช่องให้สิงโต และจระเข้จู่โจมพวกมัน เวลายีราฟดื่มน้ำ พวกมันจึงดื่มน้ำกันเป็นฝูง โดยผลัดกันเป็นเวรยามเฝ้าระวังสัตว์อื่นที่จะเข้ามาทำร้ายพวกของมัน อีกเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับยีราฟคือ รูปแบบการนอนของพวกมัน ยีราฟถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่ใช้เวลานอนหลับเฉลี่ยต่อวัน สั้นที่สุด พวกมันหลับเพียง 10 นาที - 2 ชั่วโมงต่อวัน
แม้ว่ายีราฟจะเป็นสัตว์ที่ดูอ่อนโยน
ไม่ค่อยส่งเสียง และแสดงความก้าวร้าวนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า
ยีราฟจะเป็นสัตว์ที่อ่อนกำลัง หากมันถูกจู่โจม
พวกมันก็พร้อมจะตอบโต้เพื่อป้องกันตัวเอง
ยีราฟเพศผู้สามารถรวบรวมกำลังแตะสิงโตให้กะโหลก หรือ สันหลัง แตกและหักได้
ยีราฟจึงเป็นสัตว์ผู้ถูกไล่ล่าที่จับตัวยาก และจัดการลำบากที่สุดชนิดหนึ่ง
ผู้ล่ายีราฟจึงมักเป็นสิงโตมากกว่าสัตว์นักล่าอื่น แต่โดยปกติแล้ว
ยีราฟจะไม่ค่อยถูกล่า ยกเว้นแต่ลูกยีราฟ หรือยีราฟที่กำลังดื่มน้ำ หรือ
นอนหลับเท่านั้น
ยีราฟยังมีพฤติกรรมการพันคอ ซึ่งมีจุดประสงค์สองด้าน ด้านแรก ยีราฟเพศผู้สองตัว มักจะพันคอกัน แล้วพยายามเหวี่ยงคอของอีกฝ้าย หากอีกฝ้ายล้ม แสดงว่าอีกฝ่ายเป็นผู้มีพลังมากกว่า และเป็นผู้ชนะที่จะได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียวัยเจริญพันธุ์ ด้านที่สอง มีผู้ศึกษาพฤติกรรมการพันคอของยีราฟว่า มักจะเกิดในเพศผู้ และเป็นพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีที่มักจบด้วยการพยายามผสมพันธุ์ พฤติกรรมเช่นนี้คิดเป็น 30-75% ในขณะที่พฤติกรรมเดียวกันในเพศเมีย กลับเกิดขึ้นเพียง 1% เท่านั้น
จอมณรงธร (ตี๋)
ประธานชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2555-56
กลุ่ม "รวมบาป"
3 มกราคม 2013
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น