วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Δομήνικος Θεοτοκόπουλος 'El Greco' ผู้ยิ่งใหญ่

 ข้อมูลจาก Artofmylife


เขา ชื่อว่า โดเมนิกอส เตโอโตโกปูลอส (Δομήνικος Θεοτοκόπουλος) แต่ ชาวสเปน (และชาวโลก) แทบไม่มีใครรู้จักนามจริงๆ ของเขามากไปกว่านาม "เอล เกรโก" (El Greco หรือคนกรีก) แม้เขามักจะเซ็นชื่อเต็มๆ ภาษากรีกของเขาไว้ในภาพเขียนสมัยเรอเนสซองซ์ของเขาเสมอ

หลายๆ คนมุ่งหน้าไปชมผลงานสุดอลังการของ เอล เกรโก ที่พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ปราโด (Museo del Prado) กรุงมาดริด แต่หากต้องการชมผลงานระดับมาสเตอร์พีซจริงๆ ต้องตีตั๋วรถไฟไปชมที่เมืองหลวงเก่าอย่างโตเลโด

ที่ ซานโต โตเม ในกรุงโตเลโด อันเป็นที่ฝังศพของเคานต์ออร์กาซ อดีตผู้ปกครองแคว้น คนจ่ายเงิน 2 ยูโรกว่าๆ หรือร้อยกว่าบาท เพื่อไปชมอภิมหาภาพย์เขียนเพียงภาพเดียว The Burial of Count Orgaz (ปี 1586–1588, สีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 480X360 ซม.) แต่ก็เป็นภาพที่ชมแล้วคุ้มสุดคุ้ม – ภาพเขียนขนาดใหญ่ สูงจากพื้นถึงเพดาน เล่าเรื่องฉากตอนการถึงแก่อนิจกรรมของเคานต์ออร์กาซ ผู้ทำคุณงามความดีเอาไว้มากมายขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อถึงแก่อนิจกรรมจึงมีทูตสวรรค์ลงมารับ และเหล่าเทพก็พากันช่วยส่งวิญญาณสู่อ้อมกอดของพระเจ้าบนสรวงสวรรค์

นั่นคือหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่รู้จักกันดีของจิตรกร ประติมากร และสถาปนิกผู้เลื่องชื่อชาวสเปนเชื้อสายกรีก


เอล เกรโก เกิดที่ครีต ในปี 1541 ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวนิซ และยังเป็นศูนย์กลางของศิลปะไบเซนไทน์ เขาได้รับการศึกษาและจบมาเป็นศิลปินชั้นเอกตามมาตรฐาน และเดินทางมายังกรุงเวนิซ ขณะที่อายุได้ 26 ปี ดังที่ศิลปินกรีกนิยมทำกันเมื่อศึกษาจบ

ในปี 1570 เอล เกรโก ย้ายมายังกรุงโรม โดยเปิดเวิร์กช็อปสอนนักศึกษาที่นั่น และสร้างสรรค์งานของตัวเองในสไตล์แมนเนอริสม์ และเรอเนสซองซ์แบบเวเนเซีย

อีก 7 ปีต่อมา เขาย้ายไปอยู่ที่กรุง โตเลโด ประเทศสเปน และปักหลักสร้างสรรค์งานชิ้นเอกอันเป็นที่รู้จักกันดีหลายชิ้น จนกระทั่งเสียชีวิตที่นั่นเอง



ผลงานของ เอล เกรโก มีความโดดเด่น และมีความเป็นเอกซ์เพรสชันนิสม์อยู่มาก ซึ่งในยุคสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้น อาจจะดู "ล้ำ" ไปสักหน่อยจนผู้คนยากจะเข้าใจหรือเห็นคุณค่า หากแต่กลายเป็นชิ้นงานสุดมหัศจรรย์และล้ำค่ายิ่งในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โดยเฉพาะคุณค่าที่เขาได้การยอมรับว่าเป็นแรงขับสำคัญในการเกิดของศิลปะแนว เอกซ์เพรสชันนิสม์ โรแมนติกซิสม์ และคิวบิสม์

นอก จากนั้น ด้วยบุคลิกภาพที่โดดเด่นพอๆ กับผลงานที่ไม่ธรรมดาของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กวีและนักเขียนหลายคนนำไปสร้างเป็นเรื่องราวแต่งแต้ม โลกวรรณกรรม อาทิ เรเนอร์ มาเรีย ริลเค และ นิคอส คาซานต์ซาคิส ฯลฯ

สำหรับ ศิลปะยุคใหม่ เอล เกรโก เป็นศิลปินที่มีเอกเทศ มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวสูง เขาจึงไม่จัดอยู่ในศิลปินยุคใดเลย นอกจากยุคของตัวเขาเอง ผลงานของเขามักออกมาคล้ายภาพแห่งจินตนาการที่ไม่รู้จบ เหมือนอยู่ในความฝัน (ประหลาดๆ) โดยเขาได้ผสมผสานเอาศิลปะไบเซนไทน์ซึ่งเป็นพื้นฐานอันหนักแน่นของตัวเอง เข้ากับศิลปะตะวันตกออกมาได้อย่างมหัศจรรย์

จินตนาการ อันล้นเหลือเป็นสิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้ในผลงานทุกชิ้นของ 'เดอะ กรีก' แม้ว่าเขาจะอยู่ในยุคสมัยสุดคลาสสิกอย่างยุคฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการก็ตาม หากศิลปินเชื้อสายกรีกผู้มาโด่งดังในสเปน กลับปฏิเสธที่จะเดินตามแนวทางคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็นครรลองของสีสัน เทคนิค โดยเฉพาะเนื้อหา เรื่องราวที่เล่าในภาพ

เอล เกรโก เขียนภาพรับใช้ศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ที่เขานับถือมากมาย เพียงล้วนเป็นภาพที่ไม่ธรรมดา และไม่อาจนำไปบวกรวมกับภาพเขียนแห่งศรัทธาของศิลปินท่านอื่นๆ ได้ แม้ความศรัทธาในศาสนาของเขาเองนั้นก็เปี่ยมล้นไม่แพ้ศิลปินกลุ่มนั้นๆ

ศิลปิน สเปนเชื้อสายกรีก บอกว่า "สี" คือสิ่งสำคัญที่สุดในภาพเขียน นอกจากนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะควบคุมได้มากที่สุด สำหรับเขาแล้วสีสันจะมาก่อนรูปทรง รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ

ฟราน ซิสโก ปาเชโก จิตรกรและนักทฤษฎีศิลปะ เคยไปพบ เอล เกรโก ในปี 1611 และบันทึกไว้ว่า ศิลปินคนดังนิยมใช้สีดิบๆ ไม่ผสม โดยเฉพาะสีเข้มๆ จากหมึกที่ต้องอาศัยความชำนิชำนาญเฉพาะตัวในการสร้างสรรค์ลงบนผืนผ้าใบ นอกจากนี้ เอล เกรโก ยังไม่เชื่อเรื่องการแต่งเสริมเติมสีใหม่ลงไปหลังภาพเสร็จแล้ว เพราะจะทำให้รูปออกมาไม่เป็นธรรมชาติ แต่ภาพจิตรกรรมที่ดีต้องเสร็จในการวาด (ลงสี) ครั้งเดียวเท่านั้น

ชื่อของ เอล เกรโก ถูกลืมจากเจเนอเรชันต่อจากเขาไปเสียสนิท เนื่องเพราะความไม่ get ศิลปะในแนวทางอันเป็นเอกเทศของเขานั่นเอง วิญญาณของเขาต้องรอกระทั่งต้นศตวรรษที่ 17 กว่าจะมีคนเห็นคุณค่า เนื่องเพราะปราศจากผู้ดำเนินตามรอยศิลปะแนวแมนเนอริสม์ มีแต่ลูกชายของเขาเอง ซึ่งไม่มีความสามารถมากพอที่จะสานต่อความยิ่งใหญ่ของผู้พ่อได้



ใน ช่วงศตวรรษที่ 17 ต่อ 18 แวดวงศิลปะสเปนมีการนำเอาผลงานของศิลปินที่ถูกลืมอย่าง เอล เกรโก มาประเมินคุณค่าใหม่ ซึ่งผลสรุปก็ยังแตกความเห็นไปต่างๆ กัน

นัก วิจารณ์ศิลปะอย่าง อซิสโล อันโตนิโอ ปาโลมิโน เด กาสโตร อี เบลาสโก กับ เบร์มูเดซ เซอัน เบร์มูเดซ เห็นพ้องต้องกันว่า จิตรกรรมของ เอล เกรโก คือความ เหลวไหลไร้สาระ ประหลาด แสดงถึงความบ้า โดยความเห็นของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ 2 คนนี้ล้างสมองชาวสเปนต่อมาอีกหลายศตวรรษ

ต่างจาก มุมมองของนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศส เตโอฟิล โกติเยร์ ที่เห็นว่าศิลปินเชื้อสายกรีกชาวสเปนผู้นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแรงขับเคลื่อนของศิลปะก่อนจะก้าวไปสู่ยุคโรแมนติก ไม่ว่าจะด้วยความแปลกและไม่ธรรมดาในชิ้นงานของเขา เตโอฟิล ยังชี้ให้เห็นว่า ความพิเศษเหนือธรรมดากับความบ้านั้นยากที่จะหาเส้นแบ่งแยกออกจากกันได้ ชัดเจน

เนื่องด้วยฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะ ในขณะนั้น ในที่สุดสเปนก็มิอาจต้านกระแสด้วยการปฏิเสธคุณค่าในผลงานของ เอล เกรโก ได้ จึงมีการปัดฝุ่นให้ความสำคัญกับศิลปินเอก ด้วยการจัดพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสำคัญให้เขา แม้ในใจลึกๆ หลายคนยังเชื่ออยู่ว่าเป็นศิลปะแห่งความบ้าก็ตาม

เอ ดูอาร์ด มาเนต์ ศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมผลงานของ เอล เกรโก มาก โดยเฉพาะผลงาน Holy Trinity ทำให้ เอดูอาร์ด วาดภาพชิ้นสำคัญของเขาเอง The Angels at Christ's Tomb ศิลปินฝรั่งเศสชื่อดัง ถึงกับเดินทางไปสเปนเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เอล เกรโก ด้วยตัวเอง

ในปี 1908 มานูเอล บาร์โตโลเม กอสซิโอ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ เขียนในหนังสือของเขาว่า เอล เกรโก เป็นศิลปินคนแรกที่นำเอาจิตวิญญาณแห่งสเปนใส่ลงไปในงานศิลปะ ขณะที่ ยูลิอุส ไมเยอร์- กราเอเฟ ชาวเยอรมัน ก็ว่า จิตรกรรมไม่ธรรมดานี้มีความร่วมสมัย แม้จะล่วงมาจากศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 20 แล้วก็ตาม นอกจากนี้ กลุ่มโบลเอ รีเทอร์ (Blaue Reiter หรือ Blue Rider) ยังยึดให้ เอล เกรโก เป็นแนวทางสำคัญที่จะเอาตามอย่าง ส่วน โรเจอร์ ฟราย นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ ยกให้ศิลปินสเปนเชื้อสายกรีกเป็น "อัจฉริยะ"

ศิลปิน คนสำคัญของโลกอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ ในยุค "สีฟ้า" (Blue Period) นั้นก็ได้แรงบันดาลใจสำคัญจาก เอล เกรโก มากพอๆ กับ โปล เซซาน ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าตำรับคิวบิสม์ชาวสเปนยังสารภาพว่า เอล เกรโก มีอิทธิพลต่อสไตล์ของเขาอย่างยิ่ง ขณะที่จะลองสิ่งใหม่ๆ และก้าวข้ามมาสู่ยุคสมัยของคิวบิสม์

จิตรกรรมชิ้น เอกโดยศิลปินอัจฉริยะ กับศิลปะแห่งความบ้านั้นยากจะแบ่งแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง อาจด้วยเพราะในความบ้าก็อาจจะมีคุณค่า ส่วนในสมองของอัจฉริยะก็อาจจะมีเสี้ยวแห่งความเพี้ยน

เพียง แรงบันดาลใจสำคัญที่ เอล เกรโก มีต่อศิลปินชั้นเอกมากมาย รวมทั้งแรงผลักดันให้เกิดศิลปะขึ้นมาอีกหลายยุคสมัยก็คงเพียงพอจะเป็นคำตอบ ได้ สำหรับคนที่ยังเห็นว่าคลุมเครือ

จอมณรงธร (ตี๋)
ประธานชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2555-56
กลุ่ม "รวมบาป"
18 ตุลาคม 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น