วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

รู้จักและเข้าใจคนรัสเซีย

 ข้อมูลจาก ภาณุภัค ผ่องอำพันธ์


ขอเริ่มจากเรื่องยิ้มมากหรือยิ้มน้อยของคนรัสเซียก่อนนะครับ มีผลวิจัยออกมาว่าถ้าเทียบอัตราของการยิ้มบ่อยครั้งระหว่างชาวยุโรปประเทศ อื่นๆ กับคนรัสเซียแล้ว คนรัสเซียยิ้มน้อยครั้งกว่าชาวยุโรปถึง 4 เท่าครับ (หมายความว่าถ้าในหนึ่งวันชาวยุโรปยิ้ม 4 ครั้งก็เท่ากับว่าคนรัสเซียจะยิ้มเพียงครั้งเดียว นี่ขนาดยังไม่เทียบคนไทยอย่างเราๆ นะครับ) มีสาเหตุอยู่หลายข้อครับที่มีผลให้คนรัสเซียยิ้มน้อยหรือไม่อยากจะยิ้ม อีกทั้งสภาพอากาศที่ค่อนข้างเยือกเย็นและขุ่นมัวอยู่เป็นส่วนใหญ่ทำให้ ผู้คนก็เลยดูหดหู่ไม่แจ่มใสไปด้วย 

 หรือว่าจะเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจสังคมความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยจะมั่นคงปลอดภัย เท่าไรนัก เนื่องจากประเทศประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (หลังจากปี ค.ศ. 1991) งบประมาณของรัฐในการสนับสนุนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุขหรือการแพทย์จึงลดลง ไม่เหมือนสมัยสหภาพโซเวียตที่รัฐมีการบริการทางสังคมที่ดีกว่าในปัจจุบัน ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ทำให้สามีต้องจากบ้านมาทำงานในเมืองใหญ่ และปล่อยให้ภรรยาต้องอยู่บ้านในชนบท สามีก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานไม่มีเวลาจะได้กลับไปเจอครอบครัวที่ตนรัก สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลต่อสภาพจิตใจลึกๆ ของชาวรัสเซียส่วนใหญ่ครับ นอกจากเรื่องสภาพทางสังคมแล้ว คนรัสเซียยังมีมุมมองที่มีต่อ “การยิ้ม” ในมุมมองของตนเองครับ พวกเขาเห็นว่าในการยิ้มแต่ละครั้งนั้นต้องมีเหตุผลที่สมควร คือต้องรู้สึกมาจากข้างใน ต้องมาจากการที่พวกเขารู้สึกรื่นรมย์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจริงๆ พวกเขาจะยิ้มให้กับเฉพาะพวกเพื่อนฝูงของเขาเท่านั้น เพราะการยิ้มให้กับคนแปลกหน้าถือเป็นการไม่ควรและแปลก พวกเขาจะมองการยิ้มให้กับคนแปลกหน้าไปในทางไม่ดีก่อนครับ อย่างเช่น ถ้ามีใครมองพวกเขาแล้วยิ้มให้โดยที่ไม่รู้จักกันพวกเขาอาจจะต้องรีบสำรวจตัวเองว่าลืมรูดซิปกางเกงหรือเปล่า กางเกงเลอะเพราะไปนั่งทับอะไรมาหรือไม่ และยิ่งถ้าผู้หญิงรัสเซียยิ้มให้ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นการทอดสะพานให้ก็ได้ครับ 

มีบ่อยครั้งครับที่คนรัสเซียจะหยิบยกการยิ้มของชาวอเมริกันมาพูดถึงในทางลบ อย่างที่ชาวอเมริกันพูดและปฏิบัติกันคือ “keep smiling” แต่ในสายตาคนรัสเซียแล้วพวกเขามองว่าเป็นการเสแสร้งและไม่จริงใจอย่างยิ่ง มีสำนวนและคำพังเพยรัสเซียมากมายครับที่กล่าวไว้เพื่อแสดงว่าการยิ้มพร่ำ เพื่อเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรกระทำ เช่น “Смех без причины – первый признак дурачины” – เสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่ไร้เหตุผลเป็นสัญญาณแรกของความเขลา สำหรับคนรัสเซียแล้วการยิ้มไม่ได้เป็นตัวบอกถึงมารยาทหรือสมบัติผู้ดีใดๆ ทั้งสิ้น การแสดงความเป็นมิตรไมตรีของพวกเขาไม่ได้ผ่านทางการยิ้มครับ แต่พวกเขาจะแสดงออกทางสีหน้า แววตา น้ำเสียงที่ใช้ คำและประโยคที่ถูกเลือกมาพูดครับ คนที่จะมีโอกาสเห็นรอยยิ้มที่ไม่ต้องมาจากใจของคนรัสเซียมากที่สุดคือคุณหมอ ฟันของพวกเขาครับ... 


เท่าที่เล่ามาอาจดูเหมือนว่าคนรัสเซียจะดูน่ากลัวและไม่น่าคบสักเท่าไรนัก ใช่ไหมครับ แต่จริงๆแล้วพวกเขาก็ไม่ได้ดูเลวร้ายอะไรขนาดนั้น เพียงแค่เราต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติลักษณะของพวกเขาอย่างถูกต้องเสีย ก่อน คนรัสเซียจะเป็นกันเองกับคุณในการพบปะครั้งต่อๆ มาครับ และจะแสดงความเป็นมิตรมากขึ้น ถ้าเขาเจอคุณหลายครั้งมากขึ้น การพูดจาจะเป็นกันเองและสนุกสนานขึ้น แต่ในความเป็นกันเองของพวกเขาก็มีขอบเขตที่ต่างไปจากคนไทยอยู่ดีครับ คนรัสเซียส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อย “พูดเล่น” หรือ “แซว” กันเหมือนคนไทย 


ผู้ชายรัสเซียค่อนข้างจะให้เกียรติผู้หญิง จะไม่ค่อยพูดตลกคึกคะนองมากไป มักจะจริงจังตลอดเวลา สิ่งไหนทำได้ก็พูดว่าได้ ทำไม่ได้ ก็บอกว่าไม่ได้หรือไม่แน่ใจ เพราะถ้าเขาบอกว่าได้ แล้วทำไม่ได้ภายหลัง เขารู้สึกว่าไม่ได้รักษาคำพูด เขาจึงบอกว่าไม่ได้เอาไว้ก่อน แต่เมื่อไรที่พวกเขาสัญญาว่าจะทำแล้วล่ะก็ เชื่อได้เลยครับว่าเขาจะต้องทำให้สำเร็จแน่นอน พอพูดถึงลักษณะนิสัยในการให้เกียรติผู้หญิงของผู้ชายรัสเซียแล้ว ก็ขอเล่าต่อถึงแบบฉบับหรือสิ่งที่คนรัสเซียเรียกว่า “สุภาพบุรุษตัวจริง” เขาต้องทำกันอย่างไร
  1. สุภาพบุรุษตัวจริงควรจะช่วยเปิดประตูอันหนักอึ้งให้สุภาพสตรีเดินผ่านไปได้โดยง่าย
  2. สุภาพบุรุษตัวจริงควรจะเสนอความช่วยเหลือเมื่อเห็นสุภาพสตรีถือกระเป๋าเดินทาง หรือ สัมภาระหนักๆ
  3. สุภาพบุรุษตัวจริงควรจะยื่นมือไปรับมือของสุภาพสตรีในขณะที่เธอเหล่านั้นกำลังจะก้าวลงจากรถ หรือ เรือโดยสารทุกชนิด
  4. สุภาพบุรุษตัวจริงจะถูกอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กๆ ให้เสียสละที่นั่งบนรถโดยสารให้แก่ คนชรา คนพิการ หญิงตั้งครรถ์ และ ผู้หญิงที่มีเด็กมาด้วย (บนรถไฟใต้ดินจะมีเสียงประกาศอัตโนมัติ ระหว่างสถานี เพื่อให้ผู้ที่มีน้ำใจและเป็นสุภาพชนเสียสละที่นั่งให้แก่บุคคลเหล่านี้)

     
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงระเบียบปฏิบัติบางข้อที่คนรัส เซียได้ถูกอบรมและถ่ายทอดเพื่อให้ปฏิบัติต่อๆ กันมา ซึ่งแน่นอนครับ ว่าไม่ใช่ทุกคนจะปฏิบัติ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอน และการตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ควรจะมีต่อสังคม หรือถ้าพูดเป็นภาษาไทยง่ายๆ ในแบบของคนไทยก็คือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั่นเอง... 

จอมณรงธร (ตี๋)
ประธานชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2555-56
กลุ่ม "รวมบาป"
25 กันยายน 2012






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น