วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โบโกต้า เมืองศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวโคลัมเบีย



Bogotá : โบโกตา 
(ศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวโคลัมเบีย)
ข้อมูลโดย tcdcconnect.com

เคยได้ยินสถาปนิกคนหนึ่งพูดว่า “เมืองใหญ่ที่มีความเจริญมากมายกลับกลายเป็นเมืองที่ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์เลย” ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเมืองใหญ่ส่วนมากมักจะบกพร่องเรื่องผังเมืองและการ คมนาคม ปล่อยให้ทุกอย่างเติบโตไปแบบไร้ทิศทาง ปัญหาในเมืองจึงค่อยๆ เกิดขึ้นรอบด้าน จนกลายเป็นเมืองที่ “ไม่น่าอยู่”

โชคดีที่บางเมืองไม่ได้นอนจมอยู่กับปัญหา เขามีนักบริหารจัดการที่โน้มนำ “ดีไซน์” เข้ามาใช้เพื่อออกแบบระบบเมืองใหม่ให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต ซึ่งหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจมาก ก็คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานให้ชาวเมืองหันมา “ขี่จักรยาน” กัน
  
โบโกต้า เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย เคยเป็นเมืองใหญ่ที่แออัด ทั้งยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมสูงมาก แต่ตอนนี้โบโกต้าได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้วด้วยระบบเมืองใหม่ที่อาศัยทาง จักรยานเป็นโครงสร้างสำคัญ

 

ชื่อทางการคือ Bogotá Distrito Capital : โบโกตาดิสตรีโตกาปีตัล หมายถึง "เขตเมืองหลวงโบโกตา" และยังมีชื่อเรียกว่า Santa Fe de Bogotá : ซานตาเฟเดโบโกตา (ศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์ของโบโกต้า) เป็นเมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของประเทศ
 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การสร้างวัฒนธรรมจักรยานภายในเมืองนี้ สามารถลดทั้งปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษ ปัญหาอาชญากรรม ทำให้เมืองเป็นมิตรกับผู้คนได้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว 

ผู้ว่าการเมืองโบโกต้ากล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจนี้มาจากความสำเร็จของ เมือง Curitiba ในประเทศบราซิล เขาจึงตัดสินใจใช้งบประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวสี่หมื่นหกพันล้านบาท) เพื่อสานฝันให้โบโกต้ากลายเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยานที่ “น่าอยู่อาศัย” ให้จงได้


ทางจักรยาน
เลนจักรยานความยาวรวมกว่า 300 กิโลเมตร ถูกสร้างตรงจาก “สลัม” และพื้นที่รอบนอกเข้าสู่ใจกลางเมือง ซึ่งส่งผลให้ชาวเมืองหันมาขี่จักรยานเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า เครือข่ายเส้นทางจักรยานนี้ถูกสร้างขึ้นโดยจัดลำดับความสำคัญ เช่น สายหลักเน้นย่านธุรกิจและสถานศึกษาซึ่งอยู่ใจกลางเมือง มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น ส่วนสายรองเชื่อมต่อบ้านเรือน สถานที่ท่องเที่ยว และสวนสาธารณะเข้าสู่สายหลัก โครงสร้างที่เชื่อมถึงกันทั้งหมดนี้ทำให้การเดินทางด้วยจักรยานเป็นไปได้แบบ ต่อเนื่อง ผู้ขี่จักรยานสามารถเข้าถึงสถานที่น้อยใหญ่ได้ทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีการจัดโซนพื้นที่สีเขียวขนาบไปกับเส้นทางจักรยานด้วย



ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
แม้ไม่มีรถไฟใต้ดินในตัวเมือง แต่โบโกต้าก็มีรถบัส TransMilenio ที่รวดเร็วและราคาไม่แพง รถบัสนี้มีเลนและสถานีขึ้นลงเฉพาะ ถือเป็นรถสายด่วนที่สามารถวิ่งฉิวไปได้โดยไม่ต้องหยุดจอดบ่อยๆ ปัจจุบัน TransMilenio ทำงานรับใช้ชาวเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ส่งผลให้ความหนาแน่นของรถยนต์ในตัวเมืองลดลงไปได้ถึง 40% ที่สำคัญเส้นทางการวิ่งของรถบัสนี้เชื่อมต่ออย่างดีกับทางจักรยาน ตามสถานีต่างๆ มีจุดจอดจักรยานที่ใช้งานได้จริงและเพียงพอด้วย



รณรงค์ด้วยความสนุกสนาน
ทุกวันอาทิตย์เวลา 7 โมงเช้าถึงตี 2 จะเป็น “วันอาทิตย์ปลอดรถยนต์” หรือที่ชาวโบโกต้าเรียกว่า “Ciclovia” (ไม่ใช่มีปีละครั้ง) ทางการจะปิดถนนหลายสายรวม 120 กิโลเมตร พร้อมมีจุดจอดรถมากมายให้ชาวเมืองได้ “สละรถ” แล้วหันมาขี่จักรยานหรือเดินเท้าเข้าเมืองแทน อันที่จริงมันเป็นการสร้างจินตนาการความสนุกที่ผู้คนจะได้ขี่จักรยานกลาง เมืองโดยไม่มีรถสักคัน ท้องถนนในวันอาทิตย์จะกลายเป็นเหมือนสวนขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยผู้คนที่มาเดินเที่ยวเล่น ครอบครัวพากันมาออกกำลังกาย ทานอาหารข้างทาง เพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ โบโกต้าได้แปรสภาพกลายเป็นเมืองที่มีโครงสร้างและบรรยากาศเป็นมิตร ชาวเมืองมีสุขภาพ (กายและใจ) ดีขึ้น ส่งผลทำให้ระดับอาชญากรรมลดลง และชาวเมืองก็รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นด้วย





ข้อมูลโดย กรุงเทพธุรกิจ: โลกในมือคุณ
โบโกต้ากำลังเป็นเมืองที่น่าจับตามอง

โบโกต้าเป็นเมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย จากหนังฮอลลีวู้ด เราเห็นภาพโคลัมเบียเป็นแดนเถื่อนเจ้าพ่อโคเคน มีชายฉกรรจ์หนวดเฟิ้มใส่ชุดดำสะพายปืนกลซุ่มอยู่ตามพุ่มไม้ คอยข่มขู่รีดไถชาวบ้าน ปล้นสะดมนักท่องเที่ยว และข่มขืนผู้หญิงก่อนยิงทิ้ง แล้วหมกศพในพงหญ้าข้างทาง

ผู้เขียนไม่เคยได้ไปโคลัมเบียสักที แต่ก็เชื่อว่าเป็นภาพพจน์ที่มีมูลอยู่บ้าง เหมือนเมืองไทยมีมูลขายแซนด์ซีเซ็กซ์ แต่ก็เช่นเดียวกับเมืองไทย โคลัมเบียมีมิติอื่นๆ อีกมาก เป็นสังคมที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ชนิดที่โลกต้องหันมาเรียนรู้ด้วยเลยทีเดียว

เพื่อนชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง ใช้เวลาร่วมปีขี่จักรยานตลอดแนวทวีปอเมริกาใต้ ถึงกับบอกว่า โคลัมเบียเป็นประเทศที่เขาชอบมากที่สุด ทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม

เรื่องน่าเรียนรู้ของโคลัมเบียมีมากมาย สำหรับวันนี้ขอเน้นเฉพาะเรื่องของเมืองโบโกต้า ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน โบโกต้าเป็นเมืองอันตรายสมใจฮอลลีวู้ด สถิติคนถูกฆาตกรรมสูงราว 80 คนต่อประชากร 100,000 คน รถก็ติด อากาศก็เสีย ทั้งๆ ที่คนขับขี่รถยนต์ส่วนตัวมีแค่ราว 25 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นเมืองเก่าแก่ มีตึกเก่าโบสถ์โบราณสวยงาม และเป็นเมืองมหาลัยโดดเด่นของอเมริกาใต้ ถ้าไม่ใช่เพราะวัฒนธรรมดนตรีคึกคักแกล้มเหล้าเตกิล่า ก็คงไม่ใช่เมืองน่าอยู่สักเท่าไหร่ 

จนกระทั่งนายเอนริเก้ เพนาโลซ่า (Enrique Penalosa) ลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เขาบอกชาวเมืองโบโกต้าว่า “พื้นที่สาธารณะเป็นที่ใช้ชีวิต ทำธุรกิจ กอดจูบ และวิ่งเล่นกัน” และเขามีแผนปฏิบัติการชัดเจนที่จะขับเคลื่อนเมืองให้ไปในทิศทางนั้น ประชาชนเลยเทคะแนนให้

เพนาโลซ่าลุยงานแนวรุกทันทีที่ได้รับเลือกตั้ง เขามุ่งพัฒนาความปลอดภัยและระบบโครงสร้างผังจราจรเมือง ด้วยงบประมาณจิ๊บๆ แบบประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่ไม่ธรรมดาคือยุทธศาสตร์ที่เขาเลือก
ปรกติเมื่อนึกถึงปัญหาอาชญากรรมและสวัสดิภาพประชาชนคนเมือง คนทั่วไปจะนึกถึงกรมตำรวจ จึงมุ่งเข้าไปอัดฉีดหรือเพิ่มอำนาจตำรวจ เช่นที่ปฏิบัติกันในเมืองนิวยอร์ค แต่เพนาโลซ่ากลับเลือกที่จะดึงทรัพยากรมนุษย์ทั้งสังคมเข้ามาเป็นประโยชน์ โดยเปิดพื้นที่ทางอินเตอร์เน็ตให้คนร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ หาวิธีลดอาชญากรรมแบบบูรณาการทั้งสังคม เปิดทางให้ตำรวจผู้น้อยออกไอเดียดีๆ ที่ไม่เคยได้รับการพิจารณาในกรม ให้นักวิชาการและชุมชนเข้าร่วม ปรากฎว่าได้ผลดีมาก ทุกวันนี้ฆาตกรรมในเมืองโบโกต้าลดลงไปกว่า 4 เท่า

โครงการนี้ชื่อว่า “Communidad Segura” สามารถกูเกิ้ลเข้าไปดูได้ เพราะมีภาคภาษาอังกฤษไว้เชื่อมโยงความคิดดีๆ ข้ามประเทศ จนกลายเป็นต้นแบบให้เครือข่ายในระดับสหประชาชาติ ปัจจุบันโบโกต้ายังคงใช้แนวทางนี้อยู่ แม้ว่าเพนาโลซ่าจะออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม

นโยบายพัฒนาสวัสดิภาพคนเมืองโบโกต้าดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายพัฒนาคุณภาพ ชีวิต นั่นคือสร้างเมืองให้น่าอยู่สำหรับทุกๆ คน ทั้งยากดีมีจน ซึ่งหมายถึงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่ที่มีสภาพเป็นมิตรต่อชีวิตคน แน่นอนว่ารวมถึงถนนหนทาง กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การจราจร

แทนที่จะปล่อยให้คนขับรถส่วนตัวเพียงค่อนเมืองเบียนเบียดส่วนรวมด้วยไอ เสียและตัวรถกินที่เกะกะเต็มถนนเหมือนผักตบชวาขวางกั้นคูคลอง เพนาโลซ่ามุ่งพัฒนาระบบรถเมล์และเส้นทางจักรยาน 300 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายถึงกันทั้งเมือง และโยงกับระบบรถเมล์
ทางจักรยานทั้งระบบลงทุนเบื้องต้นรวม 50,250,000 ดอลล่าร์สหรัฐ บวกค่าบำรุงดูแลราว 5,000 ดอลล่าร์ต่อปี จากคนขี่จักรยาน 0.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี ค.ศ.2000 เพิ่มขึ้นมา 20 เท่าเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2007 ประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการสัญจรคิดเป็นเงิน 40,000,000 ดอลล่าร์ต่อปี คิดเป็นค่าคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,450 ตันต่อปี คิดเป็นรายหัวคนขี่จักรยานก็ประหยัดเฉลี่ย 40 ดอลล่าร์ต่อเดือน หรือคนละ 480 ดอลล่าร์ต่อปี

นับเป็นการลงทุนที่ชักทุนคืนได้เร็วมาก แต่ที่สำคัญ คนส่วนใหญ่ที่หันมาขี่จักรยานเป็นคนรายได้ต่ำ คนเมือง 33 เปอร์เซ็นต์มีเงินใช้น้อยกว่า 2 ดอลล่าร์ หรือน้อยกว่า 60 บาทต่อวัน เงินที่ประหยัดได้ 480 ดอลล่าร์ต่อปีจึงมีความหมายมาก ตามที่เพื่อนชาวโคลัมเบียเล่าให้ฟัง สินค้าที่ไม่ใช่อาหารมีราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับราคาในสหรัฐอเมริกา เมื่อเขาสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เขาก็สามารถจับจ่ายสินค้าอื่นๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง ถนนสายหลักหลายสายจะปิดไม่ให้รถยนต์เข้า สภาพที่คนเดิน ขี่จักรยาน ทำกิจกรรมกับครอบครัวกันอย่างสะดวกสบายในวันหยุด ให้รสชาติคุณภาพชีวิตของเมืองน่าอยู่ คนทั่วไปจึงพากันสนับสนุนนโยบาย และล่าสุด ถึงกับมีประชามติโหวตไม่ให้รถยนต์ส่วนตัววิ่งช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

เมืองโบโกต้ายกระดับคุณภาพชีวิตส่วนรวมโดยไม่ได้รังแกชนชั้นสูง เพียงแค่ลดหนทางที่คนเบียดเบียนกัน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงชีวิตมีคุณภาพแก่คนอื่นๆ ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ต้องปฏิวัติฆ่าล้างชนชั้นอำนาจเก่าอย่างฝรั่งเศส รัสเซีย จีน หรือกัมพูชา
โบโกต้าเลือกวิวัฒนาการแทนปฏิวัติ
 

ภาพพจน์เมืองเถื่อนเจ้าพ่อโคเคนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป ไม่กี่เดือนมานี้ นิตยสารจักรยานแนวหน้าฉบับหนึ่งเพิ่งจัดอันดับโบโกต้าให้เป็นเมืองน่าขี่ จักรยานอันดับ 3 ของโลก รองจากอัมสเตอร์แดมและโคเปนเฮเกน

จอมณรงธร (ตี๋)
ประธานชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2555-56
กลุ่ม "รวมบาป"
21 กุมภาพันธ์ 2013


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น