วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทำไมถึงภาษาสเปน








               บทความนี้เกิดจากผมมีเรื่องให้กลับมาเพ้อ หลังจากได้ร่วมงานของภาควิชาภาษาสเปนของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 28/3/2555 และมีหัวข้อการบรรยายหลักว่า “อนาคตของภาษาสเปนจะเป็นอย่างไร” คำถามนี้ทำให้ผมสะอึก พาลคิดย้อนกลับไปว่า “ทำไมผมถึงเลือกเรียนภาษาสเปนกันล่ะ?”



               ก่อนจะไปต่องานนี้ก็คงต้องเปิดอกคุยกันก่อน... ผมค่อนข้างมั่นใจว่าตอนเลือกเรียน มีเหตุผลเดียวคือประทับใจประเทศสเปน ประทับใจความเป็นมิตรของคนสเปน ประทับใจในวิถีชีวิตของคนสเปนที่ได้ไปพบเจอมา และประทับใจในหมู่เพื่อนจากอเมริกาใต้ที่มีโอกาสได้พบกันที่ออสเตรเลีย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผมหันทิศทางการมองมาที่ “ภาษาสเปน” หลังจากได้กลับมาเหยียบประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง



นั่นหมายความว่าผมไม่เคยคิดถึงอนาคตเลยว่าหากเรียนภาษาสเปนไปแล้วจะไปทำอะไร... และมีแค่มุมมองคร่าว ๆ เท่านั้นจึงโดนใครบางคนตอกกลับมาว่า “ถ้าอยากรวยไปเรียนภาษาจีนนู่น เรียนสเปนไปไม่ช่วยทำเงินให้ได้ดีนักหรอก”



               เป็นคำพูดที่แรงและยังเจ็บมาจนถึงปัจจุบัน



               แต่...เจ็บที่ไม่ได้พูดใส่หน้าเรา ณ เวลานี้ ซึ่งตัวผมเองก็มีประสบการณ์มากขึ้น มุมมองทางความคิดกว้างขึ้น ไม่ได้อยู่ในกรอบแคบ ๆ เหมือนเมื่อคราก่อนอีกแล้ว และเข้าใจว่าโลกนี้กว้างนัก... สิ่งที่ยังไม่เกิดไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ยังมองไม่เห็นไม่เท่ากับไม่มี



               ภาษาจีนบูมจริง แต่ว่าการเรียนจีนเท่ากับเอาตัวไปเบียดเสียดในตลาดที่คับคั่งเพื่อจะแสวงหาผลประโยชน์ของตน ซึ่งเป็นการแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย เมื่อมีการแข่งขันสูงคิดว่าส่วนแบ่งทางการตลาดมันจะดี...แน่หรือ ?



               ภาษาสเปนยังไม่บูมก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ไม่มีโอกาสบูม และยิ่งไม่เท่ากับไม่สามารถทำมาหากินได้ คนที่มองว่าภาษายังไม่บูมแล้วยังไม่ควรเรียนนี่ผมคิดว่า มุมมองของเขาช่างแคบเสียนี่กระไร เพราะว่าความแตกต่างนี่แหละที่ทำให้เรามีความพิเศษ สามารถก้าวเดินเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ได้ง่ายดายกว่าความคิดยึดติด เปรียบเสมือนการเดินแสวงหาช่องทางทำมาหากินใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครทำมาก่อน



               ช่องทางไม่ใช่สิ่งที่ได้มาเองโดยไม่ลงมือทำ หากมัวแต่คิดจะรอให้เกิดช่องทางแล้วค่อยเดินก็ต้องไปเบียดแย่งกับชาวบ้านไม่ใช่หรือไง ?



               เอาล่ะ นั่นคือแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ต่อจากนี้จะเข้าสู่มุมมองที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว คนเราทำงานก็เพื่อหาเลี้ยงชีพ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือต้องการ “เงิน” มาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ในโลกปัจจุบันไม่ใช่สมัยที่เราสามารถขึ้นเขาเข้าป่าแล้วจะใช้ชีวิตได้อีกต่อไป แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างล่ะถ้าเรียนจบภาษาสเปน...



               1) เป็นอาจารย์สอน... ชัดเจนครับ เรียนมาแล้วก็เอาไปสอนคนอื่นอีกต่อ เนื่องจากบุคลากรที่ใช้ภาษาสเปนได้นั้นมีน้อยมากในประเทศไทย แค่หาบุคลากรมาเป็นอาจารย์สอนก็ลำบากแล้ว ดังนั้นไม่แปลกหากจบมาแล้วจะสอนต่อเลย



               *จุดเปลี่ยนของวงการศึกษาเกี่ยวกับภาษาสเปน หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าGAT-PAT เพิ่มภาษาสเปนเข้าไปในสารบบแล้วนะครับหลังจากสเปนเป็นแชมป์บอลโลก ถ้าตลาดเกิดความต้องการแต่ดันไม่มีคนสอนในระบบจะเป็นอย่างไรครับ? << นี่ไงถึงยังไม่บูมแต่ไม่ได้หมายความว่าบูมไม่ได้ ของแบบนี้จะไปรู้ได้อย่างไร จริงไหม?



               2) ล่าม... คนที่ใช้ภาษาสเปนในโลกนี้แม้ไม่มากเท่าจีนและอังกฤษ แต่ก็ไม่ใช่น้อยนะครับ และอย่าลืมว่าที่น้อยน่ะพวกเราที่ใช้ภาษาสเปนได้ไม่ใช่หรือ? ถ้าเทียบอัตราส่วนกันแล้วดีไม่ดีอัตราส่วนของภาษาสเปนจะดีกว่าด้วยซ้ำไป



               3) แปล... ก็ผูกติดไปกับล่าม เพียงแต่ธุรกิจที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้าที่ใช้ภาษาสเปนยังไม่เยอะเท่าไหร่...ในตอนนี้นะครับ เพราะปัจจุบันเราเปิดการค้าเสรีกับชิลีแล้ว ซึ่งนั่นจะเป็นเมืองหน้าด่านในการติดต่อกับทางอเมริกาใต้อย่างแน่นอน ซึ่งจากการอยู่ในตลาดหุ้นก็พบว่าบริษัทใหญ่ ๆ บางบริษัทเริ่มมอง business model ตรงไปที่ชิลีแล้วนะครับ เช่น MCS บริษัทค้าเหล็กที่สามารถผลิตเหล็ก S grade ได้เพียงแห่งเดียวในไทย (และอาจจะเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนด้วย)



               นอกจากนั้นสังเกตุหรือเปล่าครับว่าปัจจุบันเริ่มมีบ้านที่อาศัยจุดขาย “สไตล์สเปน” แล้ว แต่ว่าเราเองก็ยังไม่ค่อยมีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตยกรรมสักเท่าไหร่เลย เช่นเดียวกับนิยายแปลของสเปน... โอ้ ใช่แล้วครับ ก็คนเรียนสายนี้มันน้อยจริง ๆ ให้ดิ้นตายแล้วเขาจะเอาเวลาที่ไหนไปทำ! ช่องทางน่ะมันเปิดอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีคนทำมากกว่าครับ!!



               4) ทัวร์... สเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ศิลปวัฒนธรรมก็ไม่แม้ชาติใดในระแวกนั้น ถึงแม้เราจะรู้จักกับฝรั่งเศสหรืออิตาลีมากกว่า โดยเฉพาะทางตอนกลาง-ใต้ของสเปน จะไม่มีเขตอุตสาหกรรมอยู่เลย หลายแห่งเป็นเมืองที่ประหนึ่งหลุดมาจากอดีต แต่ผู้คนกลับใช้ชีวิตกันด้วย life style แบบใหม่ ความลงตัวกันอย่างประหลาดนี้เองที่เป็นจุดขายหลักของยุโรป แน่นอนว่าสเปนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และ...อย่างที่รู้กัน คนไทยที่รู้เรื่องเกี่ยวกับสเปนน่ะมีน้อยแค่ไหน แต่คนไทยที่รู้จักอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี มีมากกว่าเพียงใด << นี่ก็อีกช่องทางที่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก แต่เทร็นเริ่มมาแล้วครับ อย่าชะล่าใจไป



               5) นำเข้า... คงไม่ค่อยมีใครทราบว่าเรานำเข้าสินค้าอะไรมาจากสเปนบ้าง ผมเองก็ใช่ว่าจะรู้เยอะแต่เท่าที่ผมทราบก็มี ZARA ซึ่งเพิ่งเข้าไทยมาไม่นานนัก มีน้ำหอมAdolfo Dominguez มีร้านอาหาร Rioja (ที่ราคาอย่างแพง) นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าจาก Montero ซึ่งคุณภาพระดับได้รับการรับรองให้ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อีกด้วย



               สำหรับข้อสุดท้ายอาจทำให้สะดุ้งกันเล็กน้อย แต่การที่ไทยเรานำเข้าอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้ามาไม่ได้หมายความว่าเรากำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมานะครับ แต่ว่าโรงไฟฟ้าในไทยหลายแห่งก็ใช้สินค้าเหล่านี้...เพื่อความปลอดภัย เน้นที่คุณภาพมากกว่าซื้อของถูกแถว ๆ นี้ครับ



               เอาล่ะ...ตอนนี้ผม...นึกไม่ออกแล้ว(และเริ่มขี้เกียจ) เพราะเขียนเยอะไปหน่อย แต่ดูจากภาพรวมแล้ว...ภาษาสเปนก็ใช่ว่าจะไม่มีช่องทางให้ทำมาหากินนะครับ กลับกันเลยมันเยอะจนไม่มีคนทำแล้วมากกว่า เพราะคนมัวแต่ไปแก่งแย่งชิงเลือดเนื้อคนอื่นจากสิ่งที่กำลังบูมอยู่นั่นแหละครับ

 
 
tongfar
กลุ่มรวมบาป (บาปหนักทั้งกลุ่ม)
ชมรมภาษาตะวันตก มหาวิทยาลัยรามคำแหง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น