วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

คอสตาริกา เบอร์หนึ่งเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ทำไมคอสตาริกา จึงเป็นเบอร์หนึ่งของโลกเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ที่มา:ผศ. สุรเชษฎ์ เชษฐมาส
fforscc@ku.ac.th
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
 
 หลายคนเคยถามผมว่า มีเหตุผลอย่างไรที่วารสารการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกหลายฉบับ โดยเฉพาะที่ตีพิมพ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงจัดให้คอสตาริก้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอันดับหนึ่งของโลก ผมเองก็เคยสงสัยและมีคำถามเช่นเดียวกับคนอื่นๆ จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อน ได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานการท่องเที่ยวที่คอสตาริก้าร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และนักวิชาการคณะหนึ่ง จึงพอจะมีคำตอบให้กับคำถามข้างต้นในเชิงวิชาการ จึงขอถือโอกาสนี้วิเคราะห์ให้ผู้อ่านได้ทราบ ตามประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสมาเองพอสังเขป  
 
ประการแรก ทรัพยากรท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
และเป็นจุดขายของคอสตาริก้า อยู่ที่ป่าฝนเขตร้อน (tropical rainforest)
ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะป่าเมฆ (cloud forest) ในตอนกลางของประเทศ ป่าธรรมชาติเกือบทุกผืนที่เหลืออยู่
ได้รับการประกาศจัดตั้งในรูปของพื้นที่คุ้มครอง (protected areas) หรือป่าอนุรักษ์  ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า แม้ว่าชายฝั่งทะเลจะมีทัศนียภาพที่งดงาม แต่คอสตาริก้ายังคงอาศัยพื้นที่ป่าดังกล่าว เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการตลาดอย่างต่อเนื่อง
 
ประการที่สอง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเช่น ถนน ระบบสาธารณูปโภค ที่พักแรม ฯลฯ มักมีลักษณะกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม (environmentally friendly) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่พักแรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท หรือบังกะโล มักมีขนาดย่อมไม่ใหญ่โต และ ส่วนใหญ่มีจำนวนห้องพัก ระหว่าง 10-20 ห้อง การออกแบบเน้นความเป็น Ecolodge และประหยัดพลังงาน ทั้งนี้เพื่อเน้นการลดหรือควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญ เป็นการเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นมีส่วนเข้ามาลงทุนบริการแก่นักท่องเที่ยว และได้ผลกำไรตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ 
 
ประการที่สาม แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งที่ไปเยือน มีการให้บริการข้อมูลและ
ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ ความโดดเด่นหรือเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของ
คนท้องถิ่น อย่างเต็มที่ จนเป็นข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ของคอสตาริก้าให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลข่าวสารและการนำเสนอ
เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่ผู้ไปเยือนแม้แต่มัคคุเทศก์ที่นำคณะเรา เดินทางเกือบตลอด 7 วันก็ยังสามารถป้อนความรู้และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับประเทศของเขาได้ทุกเรื่อง รวมทั้งประวัติความเป็นมาของธรรมชาติ และของชาวคอสตาริก้าเองอย่างน่าชมเชย

  
ประการที่สี่ จากคำบอกเล่าของมัคคุเทศก์คนเดียวกันนี้ ทำให้ทราบว่า
ผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มด้านการท่องเที่ยวของคอสตาริก้า ได้แก่ คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมสิ่งแวดล้อม สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่นทุกระดับ มีบรรทัดฐานการปฏิบัติและการดำเนินงานที่มาจากนโยบาย การส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลอันเดียวกัน
มิใช่ต่างคนต่างทำโดยไม่มีกา ประสานแผนหรือความร่วมมือ เพราะต่างตระหนักว่า การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ นำรายได้เข้าประเทศมากกว่าอุตสาหกรรมหรือการส่งออกอื่นๆ และเป็นรากฐานสำคัญของการกระจายรายได้ การจ้างงานและ
ทุกวันนี้ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ส่งเสริมกันอยู่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผลดีด้วย
 
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผมเชื่อว่าผู้อ่านไม่เพียงจะได้คำตอบว่าเหตุใดคอสตาริก้าจึงเป็นหมายเลข หนึ่งของโลก เรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แต่จะได้บทเรียนเชิงเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการส่งเสริมและ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ทำกันมาราว 10 ปีเศษ ตั้งแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดและหลักการ ไปจนถึงนโยบายระดับชาติและการประสานความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องไปจนถึงฐานข้อมูลและ การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่ ทรัพยากรท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เป็นจุดขายของคอสตาริก้า มิได้เหนือหรือโดดเด่นไปกว่าของประเทศไทยเลยไม่ว่าจะเป็นปริมาณหรือคุณภาพโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยวและความหลากหลายของธรรมชาติและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นประเด็นหลักที่เป็นอุปสรรคของการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในบ้านเรา จึงอยู่ที่การบริหารจัดการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความชัดเจนของนโยบายและการประสานความร่วมมือให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งจะต้องมี "เจ้าภาพ" หรือหน่วยงานของรัฐที่สามารถประสานผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้

จอมณรงธร (ตี๋)
ประธานชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2555-56
กลุ่ม "รวมบาป"
12 มีนาคม 2013  


 

         

   
      



     


         


         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น