วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

Machu Picchu

 ข้อมูลโดย Wikipedia และ sanook.com

Machu Picchu
 (มาชู ปิกชู)

 
     
     เป็นซากอารยธรรมโบราณของชาวอินกา (Los Incas) มาชู ปิกชู หรือนิยมเรียกอีกชื่อว่า "เมืองสาบสูญแห่งอินกา" ตั้งอยู่ห่างจากเมือง Gusco (กุสโก) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร บนยอดเขาในชื่อเดียวกัน ของประเทศ Perú (เปรู) ที่ความสูงประมาณ 2,350 เมตร ในปี 1973 องค์กร UNESCO ยูเนสโกได้ตั้งให้ มาชู ปิกชู ให้เป็นมรดกโลก โดยทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมไปศึกษาประวัติศาสตร์ สถานที่แห่งนี้นับเป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญยิ่งทางโบราณคดีของทวีปอเมริกาใต้ และเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวเกือบทุกคนที่มาเยือนประเทศเปรู ในวันที่ 7 เดือน 7 ปี 2007 มาชู ปิกชู ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ จากการลงคะแนนทั่วโลกทั้งทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ

 

     มาชูปิกชู คาดว่าสร้างขึ้นราวปี ค.ศ. 1450 โดยจักรพรรดิ Pachacuti (ปาชากูตี) ของชาวอินคา มาชู ปิกชู ถูกปล่อยทิ้งไว้นับ 100 ปี เพราะชาวสเปนได้เข้ามาล่าอาณานิคม และฆ่าชาวเปรูและชาวอินคาตายเป็นจำนวนมาก เมืองนี้เลยถูกปล่อยร้างไว้ อารยธรรมแห่งนี้ได้ถูกลืมโดยคนภายนอก จนกระทั่งมีการค้นพบอีกครั้งโดยนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ Hiram BingHam (ไฮแรม บิงแฮม) นักโบราณคดีชาวอเมริกัน เมื่อปี 1911 โดยเขาถามชนพื้นเมืองถึงชื่อของมัน ชนพื้นเมืองเข้าใจผิดว่า คิดว่าเขาถามถึงชื่อของภูเขาจึงตอบว่า "มาชู ปิกชู" แปลว่า "ยอดเขาผู้ชรา" ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อของโบราณสถานดังกล่าวมาจนทุกวันนี้ และกลายมาเป็นหลักฐานที่สำคัญของจักรวรรดิอินกา นครกลางฟ้าแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขา Andes (อั๊นเดส) ประเทศเปรู กินเนื้อที่ประมาณ13 ตารางกิโลเมตร ของหุบเขา Urubamba (อุรุบัมบ้า) ที่ความสูง 6,750 ฟุตจากระดับน้ำทะเล เมื่อมองจากตีนเขาจะไม่สามารถมองเห็น มาชู ปิกชู ได้ และนี่ก็คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ มาชู ปิกชู ไม่ถูกค้นพบเป็นเวลานาน และยังคงสภาพอันสมบูรณ์เอาไว้ได้

 
    
     โบราณสถานถูกสร้างเป็นลักษณะขั้นบันไดไล่ลงมาตามความชันของหุบเขา แต่ละชั้นสูง 3 เมตร มีจำนวนทั้งหมด 40 ชั้นซึ่งถูกเชื่อมถึงกันด้วยบันไดกว่า 3,000 ขั้น และมีสิ่งก่อสร้างซึ่งสร้างด้วยหินกว่า 200 หลัง ยอดผามาชู ปิกชู เป็นหน้าผาที่มีลักษณะดิ่งชันสูงถึง 600 เมตรจากฐานที่เป็นแม่น้ำ Urubamba (อูรูบัมบา) ที่ตั้งของตัวเมือง นับเป็นความลับทางการทหาร เนื่องจากหน้าผาสูงชันเป็นปราการป้องกันธรรมชาติอันยอดเยี่ยมนั่นเอง



      วันที่ 24 กรกฎาคม 1911 ไฮรัม บิงแฮม ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล (Yale university) และเป็นต้นแบบของ "Indiana Jones" ได้ค้นพบโบราณสถานดังกล่าวระหว่างการค้นหาโบราณสถานของอินกาในละแวกใกล้เคียง จนถึงปี 1915 บิงแฮมได้ทำการตรวจสอบ มาชู ปิกชู 3 ครั้งและเขียนผลการวิจัยหลายฉบับออกมา ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ  "The Lost City of the Incas"  ซึ่งกลายมาเป็นเบสต์เซลเลอร์ และได้รับการแนะนำในนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค ในหนังสือของปี 1930 บิงแฮม ได้นำเสนอสมมติฐานว่า มาชู ปิกชู เคยถูกปกครองโดยนักบวชของลัทธิบูชาสุริยะ และมีการทำพิธีถวายหญิงสาวเป็นเครื่องสังเวยแก่พระเจ้าของพวกเขา ทั้งที่นี่ยังเป็นป้อมปราการสุดท้ายของชาวอินกาที่ต่อสู้กับชาวสเปนอีกด้วย ซึ่งสมมติฐานนี้ได้กลายมาเป็นภาพลักษณ์ของ มาชู ปิกชู อยู่เป็นเวลานานทีเดียว
 
     
    หลังจากที่บิงแฮมเกษียณจากมหาวิทยาลัย เขาได้ไต่เต้าขึ้นไปเป็นรองผู้ว่ารัฐคอนติเนคัท และกลายเป็นวุฒิสมาชิกของสภาในที่สุด บิงแฮมส่งเสริมการค้นคว้าเกี่ยวกับ มาชู ปิกชู ไว้มากมายซึ่งมีผลไปถึง 40 ปี หลังจากที่เขาเสียชีวิตทีเดียว และส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการค้นคว้ามาชูปิกชูในปัจจุบันก็มาจากแรงบันดาลใจจากงานเขียนของเขาเช่นกัน ในปัจจุบัน มีการอ้างว่ามีชาวเปรูชื่อ Axatin Lizarraga (อักซาติน ลิซาร์รากา) ได้ค้นพบมาชูปิกชู ก่อนบิงแฮมถึง 9 ปี ปัจจุบันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน แต่เนื่องจากมีพยานยืนยันหลายคน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นความจริง อย่างไรก็ดี สมมติฐานที่บิงแฮมทิ้งไว้ในฐานะผู้ค้นพบ ก็ทำให้การวิจัยในยุคหลังเป็นไปอย่างลำบากไม่น้อย ริชาร์ด แอล เบอร์เกอร์และ ลูซี่ ซี ซาลาซ่าร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ได้ยืนยันว่า มาชู ปิกชู ไม่น่าจะเป็นป้อมปราการของอินกาดังที่เข้าใจกัน เนื่องจากในบันทึกที่หลงเหลืออยู่ของสเปนกล่าวไว้ว่า" ปี 1572 ชาวอินกากลุ่มสุดท้ายขัดขืนเพียงเล็กน้อย ก่อนจะยอมจำนนที่ที่ซ่อนกลางป่าดงดิบในที่ราบ" ในขณะที่มาชู ปิกชู เป็นที่ราบสูง

 

     มีการตั้งสมมติฐานว่า มาชู ปิกชู น่าจะเป็นที่อาศัยของนักบวชเพื่อใช้ในการสังเกตวงโคจรของดวงอาทิตย์มากกว่า เนื่องจากมีหน้าต่างซึ่งดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ตรงกลางพอดี ในวันสิ้นสุดฤดูร้อนและวันสิ้นสุดฤดูหนาว ส่วนแท่นบูชายัญที่บิงแฮมกล่าวไว้ น่าจะมีไว้เพื่อเป็นหอสังเกตุวงโคจรของดวงอาทิตย์เช่นกัน โบราณวัตถุที่บิงแฮมนำมาจาก มาชู ปิกชู ถูกห่อไว้ด้วยหนังสือพิมพ์ของช่วงปี 1920 และเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บเอกสารของมหาวิทยาลัยเยลเป็นเวลานาน การตรวจสอบพบว่าของส่วนใหญ่ถูกทำขึ้นในศตวรรษที่ 15 ส่วนของที่ถูกฝังในหลุมศพนั้นมีลักษณะเรียบง่าย จึงน่าจะเป็นของผู้รับใช้มากกว่าเชื้อพระวงศ์


     ซากศพที่พบใน มาชู ปิกชู มีจำนวนของชายหญิงพอ ๆ กัน น่าจะมีการอาศัยเป็นครอบครัวซึ่งมีเด็กอยู่ด้วย ศพส่วนใหญ่พบร่องรอยของวัณโรค และโรคพยาธิ ฟันมีรอยผุเนื่องจากการทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก แต่ศพส่วนใหญ่ มักเป็นผู้สูงอายุ และไม่พบร่องรอยการตายที่น่าจะเกิดจากสงคราม สันนิษฐานได้ว่าศพของเชื้อพระวงศ์น่าจะถูกนำไปทำพิธีที่เมืองกุสโก้ จึงไม่พบอยู่ที่นี่

    
     มีบางศพที่เห็นได้ชัดว่ามาจากแถบอารยธรรมอื่นเช่นจากบริเวณทะเลสาป Titicaca (ติติกากา) คาดว่าน่าจะเป็นศพของช่างฝีมือ ที่ถูกเรียกมาเพื่อการก่อกำแพงหิน ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างปราณีต กำแพงเหล่านี้สร้างขึ้นจากหินที่ถูกตัดไว้อย่างลวก ๆ แล้วใช้เครื่องมือที่ทำจากหินเช่นกัน ค่อย ๆ เซาะตบแต่งให้เรียบร้อยอีกที ในภายหลังมีการค้นพบเส้นทางการลำเลียงหินและแหล่งที่มาของหินเหล่านี้ ซึ่งมีการพบเครื่องมือตัดหินที่ทำจากหินที่มีความแข็งเป็นพิเศษอยู่ด้วย เเละมีการพบรอยไหม้ในชั้นใต้ดินของสิ่งก่อสร้าง จึงมีการคาดเดาว่าน่าจะเกิดจากชาวเมืองซึ่งเกรงว่าสเปนจะบุกมาจึงได้เผามาชู ปิกชู เสียก็เป็นได้

 

     มีสมมติฐานกล่าวว่า มาชูปิกชูอาจจะไม่ได้เป็นเมืองเลยก็ได้ ที่นี่น่าจะเป็นที่พักตากอากาศสำหรับเชื้อพระวงศ์ในหน้าแล้ง มาชู ปิกชู ประกอบด้วยราชวัง ซึ่งมีวิหารและคฤหาสน์ล้อมอยู่รอบๆซึ่งรวมไปถึง ที่พักของผู้ทำงานในสถานที่นั้น ๆ ด้วย คาดว่าในหน้าฝนหรือช่วงที่ไม่มีเชื้อพระวงศ์มาพัก ที่นี่น่าจะมีผู้อาศัยอยู่ไม่เกิน 750 คน เมืองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยปาชากูติ ในช่วงปี 1440 และน่าจะมีผู้อาศัยอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถูกชาวสเปนมายึดดินแดนในอีก 80 ปีให้หลัง อีกสมมติฐานกล่าวว่า มาชูปิกชูน่าจะเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนา เห็นได้จากตำแหน่งของเมืองที่เหมาะกับการสังเกตุวงโคจรดวงอาทิตย์ และหน้าต่างดวงอาทิตย์ซึ่งกล่าวไว้ในข้างต้น นอกจากนี้ ชาวอินกามักจะยกพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นของคู่กัน ซึ่งมีการพบสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และพระจันทร์ในโบราณสถานอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก และสำหรับมาชู ปิกชู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์นี้ ก็มีถ้ำใน Huayna Picchu (ไวย์นาปิกชู แปลว่า "ยอดเขาผู้เยาว์วัย") ที่อยู่เบื้องหลังมาชู ปิกชู อีกที ซึ่งถูกสร้างไว้เป็นวิหารของดวงจันทร์

       
     ในปี 2003 มีผู้คนประมาณ 400,000 คน ไปท่องเที่ยวที่มาชู ปิกชู และยูเนสโกได้ส่งข้อความแสดงถึงความเสียหายจากนักท่องเที่ยว ที่เข้าไปเป็นจำนวนมาก มาชู ปิกชู ประสบกับปัญหาความทรุดโทรมอันเกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่ทางผู้ดูแลของประเทศเปรูบอกว่าเรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ถึงอย่างไรการคัดค้านนั้น ทำให้รัฐบาลเปรูได้ประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปยัง มาชู ปิกชู เหลือเพียง 500 คนต่อวัน และทุกปีจะต้องมีการปิด มาชู ปิกชู เป็นเวลา 1 เดือนเพื่อทำการฟื้นฟูมรดกโลกแห่งนี้  มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ที่ไปเที่ยวชม และได้มีการเสนอให้ติดตั้งรถกระเช้า แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธอยู่ตลอดและดูไม่มีทางจะเป็นไปได้ทุกที

Únete al grupo de Facebook "Club de las lenguas occidentales de la Universidad de Ramkhamhaeng" al https://www.facebook.com/groups/365756166805480/

สมัครเข้ากลุ่มเฟส "ชมรมภาษาตะวันตกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง" ได้ที่ https://www.facebook.com/groups/365756166805480/


จอมณรงธร (ตี๋)
กรรมการชมรมภาษาตะวันตก
ปีการศึกษา 2556-57
กลุ่ม "Fanclub FS"
17 มีนาคม 2014









                            


        



        

                  


          



         


                       


        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น